สารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกข่า

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข่าส่วนใหญ่นิยมศึกษาส่วนเหง้าเพราะเป็นส่วนที่นำมาใช้เป็นยาหรืออาหาร แต่ในการศึกษานี้ได้ทำการศึกษาสารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกข่า (Alpinia galanga) พบว่าดอกข่ามีพฤกษเคมีที่แตกต่างจากส่วนเหง้าอย่างชัดเจน สารที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอกเป็นส่วนใหญ่คือสาร pentadecane และ α-humulene และพบว่าสาร 1′-acetoxyeugenol acetate เป็นสารที่พบได้มากที่สุดในส่วนสกัดเมทานอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านจุลชีพที่ดี โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ร้อยละ 50 (MIC50) เท่ากับ 34 และ 68 มคก./มล. ต่อเชื้อ Staphylococcus aureus และเชื้อ Listeria monocytogenes ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าดอกข่ามีปริมาณของสารฟีนอลรวม (total phenols) สูงกว่าที่พบในเหง้าข่าถึง 3 เท่า (10.5 vs. 3.33 มก. เทียบเท่ากับ gallic acid ต่อน้ำหนักผงตัวอย่าง 1 ก.) การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดดอกข่าด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ มีค่าตั้งแต่ 2 – 4.45 มิลลิโมล เทียบเท่ากับ trolox ต่อน้ำหนักของสารฟีนอลิก 1 ก. จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากดอกข่ามีฤทธิ์ต้านจุลชีพและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี ซึ่งมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นสารกันเสียจากธรรมชาติหรือเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่อไป

Food Chem. 2018;255:300–8.