ฤทธิ์ลดน้ำตาลและไขมันในเลือดของสารโพลีแซคคาไรด์จากผลโกจิเบอร์รี่

โกจิเบอร์รี่ (Lycium barbarum L.) เป็นพืชพื้นเมืองของจีน และประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ผลมีสีแดงเนื่องจากประกอบด้วยสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ ซึ่งมีปริมาณอยู่ในช่วง 0.03% ถึง 0.5% ของน้ำหนักผลแห้ง โดยมีสาร zeaxanthin dipalmitate เป็นสารสำคัญหลัก ส่วนประกอบสำคัญของผลโกจิเบอร์รี่ คือ คาร์โบไฮเดรต (ประมาณ 51%) ซึ่งพบว่าสารโพลีแซคคาไรด์ที่ละลายน้ำได้จากผลโกจิเบอร์รี่ (Lycium barbarum polysaccharides: LBPs) เป็นสารสำคัญหลักที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา การศึกษาจำนวนมากพบว่า สารสกัด LBPs หรือ สารบริสุทธิ์ LBP มีผลต่อระดับกลูโคสและไขมันในเลือด และลดการเกิดภาวะ oxidative ที่มีผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
  การศึกษาในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานและไขมันในเลือดสูงด้วย alloxan พบว่า LBP ทำให้อินซูลินมีความไวมากขึ้น และทำให้จำนวนตัวขนส่งน้ำตาลกลูโคสชนิด glucose transporter type 4 (GLUT-4) บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ของกล้ามเนื้อลายเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลกลูโคส, ไตรกลีเซอไรด์, ผลรวมคอเลสเตอรอล, และ LDL ในเลือดมีระดับลดลง ในขณะที่อินซูลินและ HDL มีระดับเพิ่มขึ้น คาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลของ LBP อาจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการใช้และการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส โดย LBP กระตุ้นการทำงานของ glycogen synthetase และเพิ่มการปลดปล่อย insulin like growth factor (IGF) จากตับ รวมทั้งยับยั้งการปลดปล่อย glucagon จากอัลฟ่าเซลล์ (α-cells) จากตับอ่อน เพิ่มการหลั่งอินซูลิน ทำให้การแบ่งตัวของเบต้าเซลล์ (β-cells) ในตับอ่อนเพิ่มขึ้น ยับยั้งภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ hexokinase และ pyruvate kinase ในเซลล์ตับ ซึ่งส่งผลในระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ลดไขมันของ LBP จะเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอล และการกระตุ้นตัวรับ LDL (LDL receptor) ในตับ ซึ่งส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดลดลง
  การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (T2DM) จำนวน 67 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (37 ราย) รับประทานแคปซูลที่บรรจุ LBP 150 มก. และ microcrystalline cellulose (ยาหลอก) 150 มก. กลุ่มที่ 2 (30 ราย) รับประทานแคปซูลที่บรรจุ microcrystalline cellulose (ยาหลอก) 300 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับ LBP มีค่าพื้นที่ใต้กราฟของระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมทั้งในด้านของเวลาในการรับประทาน และขนาดของยาที่ใช้ในการศึกษา รวมถึงศึกษากลไกการออกฤทธิ์ที่แท้จริงของ LBPs ในการลดระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด

Food Chem 2018;254:377–89.