ผิวของถั่วดำ (Phaseolus vulgaris L.) สายพันธุ์ Negro Otomi อุดมไปด้วยสารในกลุ่ม anthocyanins จัดเป็นสารในกลุ่มฟีนอลิค ที่ทำให้ผักผลไม้มีสีสันต่างๆ และมีคุณสมบัติที่ไม่คงตัว สลายตัวได้ง่าย ขึ้นกับสภาวะความเป็นกรดด่าง ความเข้มข้นของสาร อุณหภูมิที่เก็บรักษา แสง ปริมาณออกซิเจน เป็นต้น ปกติสารกลุ่มนี้คงตัวในสภาวะที่เป็นกรด โดยมีสีแดงถ้าอยู่ในสารละลาย pH 1 และมีสีน้ำเงินถ้าอยู่ในสภาวะที่มีความเป็นด่างมากขึ้น จึงศึกษาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการสกัดสารกลุ่มนี้จากผิวของถั่วดำ พบว่าใช้ตัวทำละลายเป็นเอทานอล 24% ในน้ำ มีอัตราส่วนระหว่างผิวของถั่วดำกับตัวทำละลาย 1:40 ที่อุณหภูมิ 29 องศาเซลเซียส เป็นสภาวะที่เหมาะสมที่สุด ได้ปริมาณ total anthocyanin 32 มก. ต่อน้ำหนักสารสกัดแห้ง พบว่าประกอบด้วย delphinidin-3-O-glucoside, petunidin-3-O-glucoside, และ malvidin-3-O-glucoside และจากการทดลองหาสภาวะเหมาะสมสำหรับการเก็บรักษาสารกลุ่มนี้คือ ที่สภาวะความเป็นกรดที่ pH 2.5 อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส มีค่าครึ่งชีวิต 277 วัน นอกจากจะสามารถนำมาทำสีผสมอาหาร เช่นแต่งสีในเครื่องดื่มได้แล้ว ยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจอีกด้วย การทดสอบฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัด 24%เอทานอลจากผิวของถั่วดำพบว่า สารสกัดดังกล่าวที่ความเข้มข้น 1 มก./มล. สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลของร่างกายได้ เช่น α-glucosidase (37.8%),α-amylase (35.6%), dipeptidyl peptidase-IV (34.4%), reactive oxygen species (81.6%), นอกจากนี้ยังช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ลำไส้เล็ก (glucose uptake) ผิวของถั่วดำจึงเป็นแหล่งของสาร anthocyanins และสารในกลุ่มฟีนอลิคอื่นๆ ที่สามารถนำมาทำสีผสมอาหารที่อาจจะมีศักยภาพในการที่ต้านโรคเบาหวานได้
Food Chem 2017;229:62839