การทดสอบความเป็นพิษและความทนต่อกลูโคสของสารสกัดจากใบมะยม

การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัด 80% เอทานอลจากใบมะยมในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด ขนาด 1,000, 1,500 และ 2,000 มก./กก. เพียงครั้งเดียว สำหรับความเป็นพิษเฉียบพลัน และป้อนติดต่อกันทุกวันนาน 14 วัน สำหรับความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลัน รวมทั้งการทดสอบความทนต่อกลูโคส (oral glucose tolerance test, OGTT) โดยป้อนสารสกัด ขนาด 250 มก./กก. เป็นเวลา 30 นาที ก่อนให้กลูโคส ขนาด 2 ก./กก. ซึ่งวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา -30, 0, 30, 60, 120 และ 240 นาที เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide และกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำกลั่น ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้เกิดอาการของความเป็นพิษและไม่ทำให้หนูตาย และพบว่าค่าน้ำหนักตัว, เม็ดเลือดขาว, ปริมาตรของเม็ดเลือดแดงเฉลี่ย (mean corpuscular volume), เกล็ดเลือด, ปริมาตรเกล็ดเลือดอัดแน่น (plateletcrit), ปริมาตรของเกล็ดเลือดเฉลี่ย (mean platelet volume), ความกว้างของการกระจายขนาดเกล็ดเลือด (platelet distribution width), ค่าเคมีของเลือด, blood urea nitrogen (BUN), creatinine, alkaline phosphatase และน้ำหนักของตับของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมีค่าไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่สารสกัดที่ขนาด 1,500 มก./กก. มีผลทำให้เม็ดเลือดแดง ฮีมาโตคริต (Hematocrit) เม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte และฮีโมโกลบิน (hemoglobin) น้อยกว่าในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปได้ว่าสารสกัด 80% เอทานอลจากใบมะยมที่ขนาดต่ำไม่มีพิษ และสารสกัดลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่แตกต่างจากยา glibenclamide แต่ไม่มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูปกติ

Pharmacogn J 2017;9(1):58-61.