ฤทธิ์ต้านเบาหวานและความสามารถในการปกป้องความเสียหายของเม็ดเลือดแดงจาก การเกิดออกซิเดชันของเชอร์รี่หวาน

จากการศึกษาชนิดและปริมาณสารกลุ่มฟีนอลิกของสารสกัด 70% เอทนอลจากผลของเชอร์รี่หวาน (Prunus avium L.) ในประเทศโปรตุเกส จำนวน 5 สายพันธุ์ คือ Hedelfinger Maring Saco Satin และ Sweetheart พบว่ามีสารกลุ่มฟีโนลิกจำนวน 23 ชนิด ประกอบด้วยสารกลุ่ม anthocyanin 6 ชนิด สารกลุ่ม hydroxybenzoic acid 1 ชนิด สารกลุ่ม hydroxycinnamic acid 8 ชนิด สารกลุ่ม flavan-3-ol 3 ชนิด และสารกลุ่ม flavonol 5 ชนิด จากการวิเคราะห์ปริมาณสาร พบสารกลุ่ม anthocyanin ในปริมาณ 1076.97 – 2183.55 มคก./ก. โดยสายพันธุ์ Maring มีปริมาณของสารกลุ่ม anthocyanin มากที่สุด รองลงมา คือ สายพันธ์ Hedelfinger Saco Sweetheart และ Satin ตามลำดับ ในขณะที่พบสารกลุ่มฟีโนลิกชนิดไม่มีสี (non-coloured phenolics) ในช่วง 389.10 – 2024.44 มคก./ก. โดยพบใน สายพันธุ์ Hedelfinger มากที่สุด รองลงมา คือ สายพันธ์ Saco Satin Maring และ Sweetheart ตามลำดับ

จากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ฤทธิ์ต้านเบาหวาน และฤทธิ์ปกป้องเม็ดเลือดแดงของสารสกัด พบว่าความแรงของฤทธิ์ต่างๆ ขึ้นกับความเข้มข้นของสารสกัด ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชันโดยการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีพีพีเอช (DPPH) และไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) เปรียบเทียบกับวิตามินซีซึ่งเป็นสารควบคุมแบบบวก (positive control) พบว่า สายพันธุ์ Hedelfinger มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีพีพีเอชดีที่สุด โดยความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ 50% (IC50) คือ 12.1 ± 0.37 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (มคก./มล.) และสายพันธุ์ Maring มีฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระไนตริกออกไซด์ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 = 140.91 ± 1.85 มคก./มล. ซึ่งค่า IC50 ของสารสกัดจะใกล้เคียงกับวิตามินซี (IC50 = 16.92 ± 0.69 และ 162.66 ± 1.31 มคก./มล. ตามลำดับ) ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยการทดสอบความสามารถในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ α-glucosidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยน้ำตาลที่มีพันธะ α-glucosidic ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด พบว่า สายพันธุ์ Hedelfinger มีฤทธิ์ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 = 10.25 ± 0.49 มคก./มล. ซึ่งให้ผลดีกว่า acarbose ซึ่งเป็นสารควบคุมแบบบวก (positive control, IC50 = 306.66 ± 0.84 มคก./มล.) และในการศึกษาฤทธิ์ปกป้องเม็ดเลือดแดงของสารสกัดผลเชอร์รี่หวานสายพันธุ์ Saco เปรียบเทียบกับสาร quercetin ซึ่งเป็นสารควบคุมแบบบวก โดยทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของฮีโมโกลบิน (hemoglobin oxidation) และฤทธิ์ในการป้องกันการแตกของเม็ดเลือด (hemolysis of human erythrocytes) จากการเหนี่ยวนำด้วยอนุมูลอิสระเพอร์ออกซิล (peroxyl) พบว่า มีค่า IC50 = 38.6 มคก./มล. และ 73.0 มคก./มล. ตามลำดับ ซึ่งมีประสิทธิผลต่ำกว่าสาร quercetin จากผลการทดลองพบว่าเชอร์รี่หวานมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ รวมถึงสารกลุ่มฟีนอลิกที่พบในสารสกัดมีความสัมพันธ์กับฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ดังนั้นการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำเชอร์รี่หวานไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพต่อไป

Food Res Int 2017;95:91–100.