ฤทธิ์บรรเทาอาการท้องผูกของอาหารข้นจากกล้วยดิบ

การศึกษาฤทธิ์บรรเทาอาการท้องผูกของกล้วยดิบ (green dwarf banana, Musa spp. AAA.) ในเด็กที่มีปัญหาท้องผูก จำนวน 80 คน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารข้นจากกล้วยดิบ (green banana biomass)* ขนาด 30 ก./วัน กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารข้นจากกล้วยดิบร่วมกับ Polyethylene glycol 3350 (PEG3350) กลุ่มที่ 3 ได้รับอาหารข้นจากกล้วยดิบ ร่วมกับยารักษาอาการท้องผูก sodium picosulfate กลุ่มที่ 4 ได้รับ PEG3350 เพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่ 5 ได้รับยา sodium picosulfate เพียงอย่างเดียว โดยให้รับประทานเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารข้นจากกล้วยดิบเพียงอย่างเดียว มีลักษณะอุจจาระดีขึ้นเมื่อประเมินด้วย Bristol Stool Form Scale ลดการเบ่ง อาการปวดท้องและความเจ็บปวดขณะถ่ายอุจจาระ แต่ไม่เพิ่มจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระของผู้ป่วยให้มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ลดการมีเลือดปนในอุจจาระ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารข้นจากกล้วยดิบร่วมกับยาระบาย sodium picosulfate และอาหารข้นจากกล้วยดิบร่วมกับ PEG 3350 สามารถลดการใช้ยาระบายลง 87% และ 63% ตามลำดับ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าอาหารข้นจากกล้วยดิบสามารถบรรเทาอาการท้องผูก และเมื่อใช้ร่วมกับยาระบายจะช่วยปรับลดขนาดยาของยาระบายได้

*เตรียมโดยนำกล้วยดิบไม่ปอกเปลือกล้างให้สะอาด นำไปต้มในหม้อต้มอัดความดันเป็นเวลา 20 นาที จากนั้นนำเนื้อ 200 ก. ปั่นรวมกับน้ำ 50 มล. ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

J Pediatr 2018:S0021(17):30638-1.