การศึกษาผลของสารโพลีฟีนอล (polyphenols) จากกาแฟต่อสภาพผิวหนัง โดยทดลองให้อาสาสมัครเพศหญิงจำนวน 31 คน (อายุระหว่าง 25-35 ปี) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดื่มกาแฟที่มีปริมาณโพลีฟีนอล 297.8 มก. วันละครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่สองให้ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีโพลีฟีนอลเป็นส่วนประกอบ (กลุ่มควบคุม) ประเมินสภาพผิวของอาสาสมัครด้วยเครื่อง Visioscan VC98 และ visual analog scale (VAS) ทั้งช่วงก่อนและหลังการทดลอง ผลการศึกษาพบว่า การดื่มกาแฟที่มีโพลีฟีนอลเป็นส่วนประกอบมีผลทำให้ ค่าความเรียบเนียนและความชุ่มชื่นของผิวหนังบริเวณแก้มของอาสาสมัครดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ ในการทดสอบการทำงานของระบบไหลเวียนบริเวณผิวหนัง (cutaneous vascular function) ด้วยการทดสอบ cold stress test (CST) โดยให้อาสาสมัครจุ่มมือลงในน้ำเย็นที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที หลังจากนั้นทำการวัดอุณหภูมิที่มือของอาสาสมัครทันที และวัดมื่อเวลาผ่านไป 10 นาทีอีกครั้ง ผลจากการทดสอบพบว่า การดื่มกาแฟที่มีโพลีฟีนอลเป็นส่วนประกอบมีผลทำให้อัตราการคืนค่าอุณหภมิร่างกายบริเวณผิวหนัง (recovery rate of skin temperature) ดีขึ้น แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแยกกลุ่มอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ที่มีอัตราการคืนค่าอุณหภมิสูง และกลุ่มผู้ที่มีอัตราการคืนค่าอุณหภมิสูงต่ำพบว่า ในกลุ่มผู้ที่มีอัตราการคืนค่าอุณหภมิสูงต่ำ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ดื่มกาแฟที่มีโพลีฟีนอลเป็นส่วนประกอบ (7 คน) กับกลุ่มควบคุม (8 คน) การดื่มกาแฟที่มีโพลีฟีนอลเป็นส่วนประกอบมีผลทำให้อัตราการคืนค่าอุณหภมิร่างกายบริเวณผิวหนังดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลจากการศึกษาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สารโพลีฟีนอลจากกาแฟมีฤทธิ์ช่วยฟื้นฟูสภาพผิวหนัง และมีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณผิวหนังจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ
J Nutr Sci Vitaminol. 2017; 63: 291-7.