การศึกษาผลของสารสกัดชาเขียวต่อความรุนแรงของโรคและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคลูปัส (systemic lupus erythematosus; SLE) โดยศึกษาแบบสุ่ม ในผู้ป่วยโรค SLE จำนวน 68 คนที่เข้าร่วมการศึกษาครบระยะเวลา 12 สัปดาห์ อายุเฉลี่ย 39.1 ± 10.3 ปี และมีค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) เฉลี่ยเท่ากับ 25.7 ± 5.21 กก/ม2 แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานแคปซูลสารสกัดชาเขียว 2 แคปซูล (1,000 มก./วัน ซึ่งมีปริมาณสารโพลีฟีนอล 22%) และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ให้รับประทานแป้ง 2 แคปซูล (1,000 มก./วัน) ติดต่อกันทุกวันนาน 12 สัปดาห์ วัดผลลัพธ์หลักโดย ประเมินความรุนแรงของโรคลูปัสก่อนเริ่มทดลองและหลัง 3 เดือน ด้วย Systemic Lupus Erythematosus Disease Activity Index 2000 (SLEDAI-2K) ซึ่งเป็นแบบประเมินที่ใช้ในการทดลองทางคลินิกและศึกษาการพยากรณ์โรค SLE รวมทั้งประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยการตอบแบบสอบถาม SF-12 questionnaire ก่อนและหลังการทดลองเช่นกัน ผลจากการศึกษาพบว่าสารสกัดชาเขียวสามารถลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มทดลอง นอกจากนี้ ผลการประเมินแบบสอบถามคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพบว่า การรับประทานสารสกัดชาเขียวทำให้รู้สึกมีกำลังวังชาและสุขภาพทั่วไปดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แสดงให้เห็นว่า การรับประทานแคปซูลสารสกัดชาเขียวติดต่อกันทุกวันนาน 12 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพช่วยให้อาการของโรคลูปัสดีขึ้น และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตบางส่วนของผู้ป่วยได้
Phytother Res. 2017; 31(7): 1063-71.