ผลของสารสกัดกระชายดำต่อโรคข้อเข่าเสื่อม

การศึกษาฤทธิ์ลดอาการข้อเข่าเสื่อมของสารสกัดกระชายดำในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดข้อเข่าอักเสบด้วยกรดโมโนไอโอโดอะซิติก (monoiodoacetic) โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเหง้ากระชายดำด้วย 60% เอทานอล ขนาด 100 มก./กก. น้ำหนักหนู และกลุ่มที่ได้รับยา diclofenac ขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักหนู เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นในวันที่ 8 ทำการวัดระดับการทนต่อความเจ็บปวด (pain threshold) ด้วย von Frey algesiometry เปรียบเทียบผลกับกลุ่มควบคุม พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดกระชายดำ และยา diclofenac จะสามารถทนต่อความเจ็บปวดได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และในการตรวจพยาธิสภาพและการประเมินด้วย Mankin score พบว่าสารสกัดมีผลลดความรุนแรงของการเสื่อมของกระดูกอ่อนในข้อของหนูได้ นอกจากนี้การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดกระชายดำด้วย 60% เอทานอล และสารที่พบในกระชายดำกลุ่ม polymethoxyflavonoids ในเซลล์กระดูกอ่อนข้อเข่าของคน (human knee-derived chondrocytes) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย IL-1β (2.5 มคก./มล.) พบว่าสารสกัดกระชายดำความเข้มข้น 20 มคก./มล. และสาร 5,7-dimetho-xyflavone และ 5,7,4′-trimethoxyflavone ความเข้มข้น 5 ไมโครโมล่าร์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยลดการแสดงออกของยีนของ metalloproteinase (MMP1) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายคอลลาเจนและมิวโคพอลีแซคคาไรด์ (mucopolysaccharide) ในกระดูกอ่อน สรุปได้ว่าสารสกัดกระชายดำมีผลช่วยลดการเสื่อมของข้อเข่าได้ โดยมีกลไกหนึ่งมาจากการยับยั้งเอนไซม์ MMPs ของสารที่เป็นองค์ประกอบ คือ 5,7-dimethoxyfla-vone และ 5,7,4′-trimethoxyflavone

J Nat Med 2018;72:136-44.