ฤทธิ์ป้องกันการเกิดภาวะตับแข็งจากการอุดตันของทางเดินน้ำดีของกาแฟ

การทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของกาแฟและสารคาเฟอีนในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะตับแข็งจากการอุดตันของทางเดินน้ำดี (secondary biliary cirrhosis) ด้วยการผูกท่อน้ำดี (model of chronic bile duct ligation; BDL) เป็นเวลา 28 วัน จากนั้นป้อนสารทางปากคือ กาแฟธรรมดา (conventional coffee) 200 มก./กก./วัน, กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน (decaffeinated coffee) 200 มก./กก./วัน หรือสารคาเฟอีน (caffeine) 50 มก./กก./วัน ติดต่อกันทุกวันนาน 28 วัน ผลการทดลองพบว่า กาแฟธรรมดาสามารถยับยั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการผูกท่อน้ำดีได้ดีที่สุด แต่สารคาเฟอีนสามารถต้านการเกิดพังผืด (fibrosis) ในตับได้ดีกว่า พบว่ากาแฟธรรมดามีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น รวมทั้งป้องกันการเพิ่มขึ้นของค่าเอนไซม์ในตับและป้องกันการพร่องของไกลโคเจนในตับ และที่น่าสนใจคือ กาแฟธรรมดาและสารคาเฟอีนสามารถป้องกันการเพิ่มขึ้นของคอลลาเจนในตับได้ ส่วนผลการศึกษาในระดับโปรตีนโดยวิธี Western blot พบว่ากลุ่มที่ได้รับกาแฟธรรมดาและสารคาเฟอีนมีการแสดงออกของ transforming growth factor-β, connective tissue growth factor, α-smooth muscle actin, และ collagen 1 (เป็นโปรตีนที่เกี่ยวกับการเกิดพังผืด) ลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับกาแฟธรรมดามีระดับของ mRNA ของโปรตีนดังกล่าวลดลงด้วย จึงสรุปได้ว่า กาแฟธรรมดาและสารคาเฟอีนสามารถป้องกันการเกิดภาวะตับแข็งที่เกิดจากการอุดตันของทางเดินน้ำดีในหนูแรทได้ โดยกลไกการออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการต้านออกซิเดชั่น ยับยั้งการทำงานของเซลล์สเตลเลต (stellate cell) ซึ่งที่ทำหน้าที่สร้างพังผืดในตับ และลดส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพังผืดในตับ

Nutr Res 2017;40:65-74.