ฤทธิ์ต้านอาการเครียดของชาเขียว

การศึกษาฤทธิ์ต้านภาวะเครียดในหนูเม้าส์ของชาเขียว โดยเหนี่ยวนำให้หนูเกิดความเครียดทางจิตใจด้วย model of psychosocial stress (หนูเม้าส์เพศผู้อายุ 4 สัปดาห์ ถูกจับให้อยู่รวมกันนาน 5 วัน จากนั้นแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่อยู่รวมกันตลอดการทดลอง และ (2) กลุ่มที่ถูกแยกให้อยู่ตัวเดียวเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงให้มาอยู่รวมกันอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเครียด) ซึ่งทำการทดสอบกับชาเขียว 3 ชนิดคือ (1) ชาเขียวที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโนธีอะนีน (theanine) หรือเกียวคุโระ (Gyokuro) (2) ชาเขียวมาตรฐานหรือเซนฉะ (Sencha) และ (3) ชาเขียวมาตรฐานเซนฉะที่มีสารคาเฟอีนต่ำ (low-caffeine green tea) นอกจากนี้ยังทำการทดสอบกับสารคาเฟอีน สารคาเทชิน (catechin) และกรดอะมิโนอื่นๆ ที่พบในชาเขียวด้วย ในการทดลองหนูจะได้กินน้ำชาแต่ชนิดที่ชงด้วยน้ำอุณหภูมิ 25°C (เตรียมชาโดยใช้ใบชา 3 ก. ต่อน้ำ 1 ลิตร และคนเป็นเวลานาน 6 นาที) โดยให้กินแบบตามใจ (ad libitum) เปรียบเทียบผลการทดลองกับหนูที่ให้กินน้ำเปล่า โดยพิจารณาการเกิดภาวะต่อมหมวกไตมีขนาดโตผิดปกติ (adrenal hypertrophy) จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า ปริมาณสารคาเฟอีนในใบชาจะลดลง เมื่อทำการพ่นน้ำร้อนลงไปบนใบชาในขั้นตอนการเตรียมใบชาก่อนนำมาชง สาร epigallocatechin gallate (EGCG) คือสารในกลุ่มสารคาเทชินที่พบมากที่สุดในใบชา และการชงชาด้วยน้ำอุณหภูมิ 25°C จะทำให้ได้สาร epigallocatechin (EGC) ออกมามากที่สุด และจากผลการทดลองในหนูพบว่า การเกิดภาวะต่อมหมวกไตมีขนาดโตผิดปกติจากความเครียดจะถูกยับยั้งในกลุ่มที่ได้รับชาที่มีสารธีอะนีนสูงและชามีสารคาเฟอีนต่ำ โดยสารคาเฟอีนและสาร EGCG มีผลยับยั้งการออกฤทธิ์ต้านภาวะเครียดของสารธีอะนีน ในขณะที่สาร EGC และกรดอะมิโนอาร์จินีน (arginine) ที่พบในชาเขียวจะทำให้ฤทธิ์ต้านภาวะเครียดของสารธีอะนีนคงอยู่ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านภาวะเครียดด้วยการออกฤทธิ์ร่วมกันของกรดอะมิโนธีอะนีน กรดอะมิโนอาร์จินีน และสาร EGC ซึ่งมีผลตรงข้ามกับการออกฤทธิ์ของสารคาเฟอีนและสาร EGCG

Phytomedicine 2016;23:1365-74.