การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูกของสารสกัดน้ำจากใบยอ (Morinda citrifolia L) และชาดำ (Camellia sinensis (L.) Kuntze) ในหนูแรทที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการเหนี่ยวนำด้วยการตัดรังไข่ออก (ovariectomized rats) โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับน้ำเปล่า (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ได้รับยา remifemin (สารสกัดจากเหง้าของต้น black cohosh (Cimicifuga racemosa) ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการหลังหมดประจำเดือน) ขนาด 100 มก./กก. กลุ่มที่ 3 ได้รับสารสกัดชาดำขนาด 250 มก./กก. กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 ได้รับสารสกัดใบยอขนาด 100, 200 และ 300 มก./กก. ตามลำดับ เป็นเวลานาน 4 เดือน จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดใบยอสามารถเพิ่มการแสดงออกของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของการสร้างกระดูก (runt-related transcription factor 2, bone morphogenetic protein 2, osteoprotegerin, estrogen receptor 1 [ESR1], collagen type I alpha 1A) และลดการแสดงออกของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของการเกิดการอักเสบ (interleukin-6, tumor necrosis factor-α, nuclear factor [NF]--κB, receptor activator of NF-κB ligand) โดยทำให้ขนาด โครงสร้าง คุณสมบัติทางกลศาสตร์ (ความแข็งแรงและความหยืดหยุ่น) การสะสมแร่ธาตุ และความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ ในขณะที่สารสกัดชาดำทำให้ความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่ (bone regeneration) และยับยั้งการสลายกระดูกเก่า (bone resorption) ซึ่งคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการเกิดและเพิ่มการรอดชีวิตของเซลล์กระดูก (osteoblast) ยับยั้งการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก (osteoclast) ยับยั้งการอักเสบ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนของกระดูก (bone collagen) และเพิ่มการแสดงออกของ ESR1 จากผลการทดลองดังกล่าว ทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดน้ำจากใบยอและชาดำน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและหญิงวัยหมดประจำเดือน
Nutrition 2017;33:42-51.