ฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของไตที่เกิดจากโรคเบาหวานของเกากีฉ่าย

ศึกษาฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของไตที่เกิดจากโรคเบาหวานของสารโพลีแซคคาไรด์จาก เกากีฉ่าย (Lycium barbarum ) ในกระต่ายเพศผู้ โดยแบ่งการทดลองออกเป็นสองแบบคือ การให้เพื่อป้องกันความเสียหายของไตจากโรคเบาหวาน ด้วยการป้อนสารโพลีแซคคาไรด์จากเกากีฉ่ายให้แก่กระต่ายขนาด 10 มก./กก./วัน นานติดต่อกัน 12 สัปดาห์ หลังจากเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยการฉีดสาร alloxan ขนาด 100 มก/กก. นาน 2 สัปดาห์ และการให้เพื่อรักษาอาการผิดปกติของไตที่เกิดจากโรคเบาหวาน โดยป้อนสารโพลีแซคคาไรด์จากเกากีฉ่ายให้แก่กระต่ายขนาด 10 มก./กก./วัน นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ หลังจากเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานและเกิดภาวะการเสียหายต่อไตด้วยการฉีดสาร alloxan ขนาด 100 มก/กก. นาน 8 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า สารโพลีแซคคาไรด์จากเกากีฉ่ายมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มน้ำหนักตัวกระต่ายทั้งสองกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกระต่ายที่เป็นเบาหวาน (กลุ่มควบคุม) นอกจากนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของไตได้แก่ น้ำหนักไต, ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ, ระดับไนโตรเจนในเลือด (blood urea nitrogen), ค่า creatinine, ระดับ angiotensin II และการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในเนื้อเยื่อไต (MCP-1 ,ICAM-1 และ NF-κB) พบว่า มีค่าลดลงทั้งสองกลุ่มเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยการให้แบบป้องกันจะให้ผลดีกว่าการให้แบบรักษา ผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารโพลีแซคคาไรด์จาก เกากีฉ่ายมีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของไตที่เกิดจากโรคเบาหวานได้

Life Sci 2016; 157: 82-90.