ฤทธิ์ลดภาวะซึมเศร้าของหญ้าฝรั่นในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวน

ศึกษาฤทธิ์ลดภาวะซึมเศร้าของหญ้าฝรั่นในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวน โดยทดลองให้ผู้ป่วยจำนวน 20 คน (เพศชาย 11 คน, เพศหญิง 9 คน, อายุเฉลี่ย 52.05±8.92 ปี) รับประทานแคปซูลหญ้าฝรั่นวันละ 30 มก./วัน นาน 6 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มควบคุมจำนวน 20 คน (เพศชาย 14 คน, เพศหญิง 6 คน, อายุเฉลี่ย 53.10±8.47 ปี) ที่ได้รับยารักษาโรคซึมเศร้า fluoxetine ขนาดวันละ 40 มก./วัน นาน 6 สัปดาห์ ประเมินภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มในสัปดาห์ที่ 3 และ 6 ของการทดลอง โดยใช้แบบสัมภาษณ์ Hamilton Rating Scale for Depression (HDRS) ผลการศึกษาพบว่า ผลคะแนนจากแบบวัด HDRS จากผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเมื่อสิ้นสุดการทดลองไม่มีความแตกต่างกันในเชิงสถิติ โดยผลจากการวิเคราะห์คะแนนพบว่ายา fluoxetine ให้ผลคลายอารมณ์ซึมเศร้าลงคิดเป็น 72.92% ในขณะที่แคปซูลหญ้าฝรั่นคิดเป็น 69.04% และไม่พบรายงานอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า หญ้าฝรั่นมีฤทธิ์ลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวนและมีอาการซึมเศร้า โดยมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยา fluoxetine อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยในการทดลองนี้ยังมีไม่มากและใช้ระยะเวลาในการศึกษาไม่นาน

J Affect Disord. 2014; 155: 216-22.