ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของโปรตีนอัลบูมินจากข้าว

การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของโปรตีนอัลบูมินที่แยกได้จากข้าวญี่ปุ่น (Oryza sativa japonica ; RA) ซึ่งโปรตีนดังกล่าวมีน้ำหนักโมเลกุล 16 กิโลดาลตัน โดยทำการทดสอบในหนูแรทที่ได้รับแป้งหรือน้ำตาลกลูโคสในขนาด 1 ก./กก.น้ำหนักตัว (oral starch and glucose tolerance test) ร่วมกับการได้รับ RA ขนาด 200 มก./กก.น้ำหนักตัว พบว่า RA สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ ทั้งใน oral starch และ glucose tolerance test โดยความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังจากให้หนูกินแป้งเป็นเวลา 15 นาที ในกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับ RA คือ 144±6 และ 127±4 มก./ดล. ตามลำดับ และความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังจากให้หนูกินน้ำตาลกลูโคส ในกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับ RA คือ 157±7 และ 137±4 มก./ดล. ตามลำดับ แต่เมื่อทดสอบด้วยวิธีฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าทางช่องท้อง (intraperitoneal glucose tolerance test) พบว่า RA ให้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม และ RA ไม่มีผลในการยับยั้งเอนไซม์แอลฟ่า-อะไมเลส (α-amylase) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า RA ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ลำไส้เล็ก และการทดสอบในหลอดทดลองยังแสดงให้เห็นว่า RA สามารถยับยั้งการแพร่ของน้ำตาลกลูโคสผ่านเยื่อเลือกผ่าน (semipermeable membrane) เช่นเดียวกับกลไกการทำงานของใยอาหาร โดย RA ที่ถูกย่อยด้วยเอนไซม์เปปซิน (pepsin) และแพนคริเอติน (pancreatin) จนกลายเป็นเปปไทด์โมเลกุลใหญ่ (high-molecular-weight peptide) ซึ่งน้ำหนักโมเลกุล 14 กิโลดาลตันนั้น น่าจะมีกลไกในการดูดซับและยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่ลำไส้เล็ก

J Agric Food Chem 2016;64:4882-90.