ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของตำรับยาว่านชักมดลูก

การศึกษาฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของตำรับยาว่านชักมดลูกซึ่งประกอบด้วย ว่านชักมดลูก (Curcuma comosa ) ว่านนางคำ (Curcuma aromatica ) และไพล (Zingiber montanum ) (อัตราส่วน 1:1:1) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยแอสไพริน กรดเกลือ (hydrochloric acid) และการแช่น้ำเย็นเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเครียด โดยป้อนยาขนาด 0.25, 0.5, 1 และ 2 ก./กก. เพียงครั้งเดียว เป็นเวลา 30 นาทีก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดแผล หรือป้อนยาในขนาด 0.25, 0.5, 1 และ 2 ก./กก./วัน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เปรียบเทียบผลกับยาลดกรดในกระเพาะอาหารรานิทิดีน (ranitidine) (50 มก./กก.) พบว่าในกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยแอสไพริน การให้ตำรับยาว่านชักมดลูกเพียงครั้งเดียว มีแนวโน้มลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ แม้ว่าจะไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มควบคุม ในกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยกรดเกลือ ตำรับยาว่านชักมดลูกมีผลลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ทั้งในการให้แบบครั้งเดียวหรือให้ต่อเนื่องกัน ส่วนในกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการแช่น้ำเย็นเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเครียด พบว่าตำรับยาว่านชักมดลูกมีผลลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เฉพาะในการให้แบบครั้งเดียว ขณะที่ยารานิทิดีนสามารถลดการเกิดแผลได้ทั้งแบบให้ครั้งเดียวและให้ต่อเนื่องในทุกกลุ่มการทดลอง สรุปได้ว่าการให้ตำรับยาว่านชักมดลูกแบบครั้งเดียวมีผลป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เนื่องมาจากการหลั่งกรดเกินในกระเพาะอาหารและความเครียดได้ แต่มีผลเล็กน้อยในการป้องกันการเกิดแผลจากยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และการให้ตำรับยาว่านชักมดลูกแบบต่อเนื่องมีผลป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารจากการเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยกรดได้ จากข้อมูลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ตำรับยาว่านชักมดลูกมีประสิทธิภาพของในการป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารและลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูได้

Mahidol Univ J Pharm Sci 2015;42(3):101-9