ประโยชน์ของเกรพฟรุต (Grapefruit) กับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

การศึกษาฤทธิ์ของสาร flavonones ในเกรพฟรุตต่อการทำงานของหลอดเลือด โดยศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนสุขภาพดี 48 คน อายุ 50-65 ปี ที่หมดประจำเดือนมาแล้วประมาณ 3-10 ปี มีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) อยู่ที่ 19-30 กก./ม2 รอบเอวมากกว่า 88 ซม. โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ดื่มน้ำเกรพฟรุตคั้น 340 มล. ต่อวัน ซึ่งมีส่วนประกอบของสาร naringenin glycosides 210 มก. และกลุ่มควบคุมให้ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีสาร flavonones ทดสอบเป็นเวลา 6 เดือน และมีระยะพักเป็นเวลา 2 เดือน หลังจากนั้นสลับการรักษา ประเมินผลการรักษาโดยการวัดค่าของ brachial artery flow mediated dilatation (FMD) ซึ่งเป็นตัวที่บ่งชี้การทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือด วัดความดันโลหิต วัดสภาวะความแข็งของหลอดเลือดแดง (arterial stiffness) และวัดการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดส่วนปลายบริเวณเล็บมือ รวมทั้งวัดค่าชีวเคมีต่างๆ ก่อนและสิ้นสุดการทดสอบทั้งสองช่วง ผลการวัดความเร็วของหลอดเลือดแดงที่คอและขา (carotid-femoral pulse wave velocity) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ภาวะความแข็งของหลอดเลือดแดงใหญ่ aortic ถ้ามีค่าสูงแสดงถึงความผิดปกติของหลอดเลือด พบว่าการดื่มน้ำเกรพฟรุตมีผลลดความเร็วของหลอดเลือดแดงที่คอและขา (7.36±1.15 ม./วินาที) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (7.70±1.36 ม./วินาที) แต่ไม่มีผลต่อการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือด ความดันโลหิต ขนาดของร่างกาย กระบวนการเมทาบอลิซึมของน้ำตาล สารก่อการอักเสบ และอนุมูลอิสระในร่างกาย จากผลการทดสอบการดื่มน้ำเกรพฟรุตซึ่งมีส่วนประกอบของสาร flavonones สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีสุขภาพดีในระยะยาว มีแนวโน้มส่งผลช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้

Am J Clin Nutr 2015;102:66-74