การทดสอบผลต่อกระเพาะอาหารของสารสกัด 96% เอทานอลจากส่วนเหนือดินของคื่นไฉ่ (Apium graveolens ) ในหนูแรท โดยแบ่งเป็น 3 การทดสอบ การทดสอบแรกคือ การทดสอบฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร โดยให้หนูกินสารสกัดในขนาด 250 และ 500 มก./กก. เป็นเวลา 30 นาทีก่อนเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยยา indomethacin หลังจากนั้น 6 ชม. จึงฆ่าหนู แล้วนำกระเพาะอาหารออกมาตรวจสอบ พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ขนาดสามารถยับยั้งการเกิดแผลที่กระเพาะอาหารได้ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ใช้ การทดสอบที่ 2 คือ การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของสารสกัดในหนูแรท ด้วยวิธีการผูกกระเพาะอาหาร (pylorus ligated) โดยหนูจะได้รับสารสกัดขนาด 250 และ 500 มก./กก. (กลุ่มทดสอบ) หรือน้ำเกลือ (กลุ่มควบคุม) ด้วยวิธีฉีดเข้าช่องท้องทันทีหลังจากที่ผูกกระเพาะอาหารเสร็จ และหลังจากนั้น 6 ชม. จึงฆ่าหนู แล้วนำกระเพาะอาหารออกมาตรวจสอบ พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ขนาด สามารถยับยั้งการหลั่งกรดและยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และการทดสอบที่ 3 คือ การทดสอบฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารของสารสกัดในหนูแรท จากการเหนี่ยวนำด้วยเอทานอลและด่างเข้มข้น (strong alkali) โดยให้หนูกินสารสกัดในขนาด 250 และ 500 มก./กก. ซึ่งพบว่าสารสกัดขนาด 500 มก./กก. สามารถยับยั้งการเกิดแผลและภาวะเลือดออกในลำไส้ (intraluminal bleeding) ได้อย่างชัดเจน จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สารสกัด 96% เอทานอลจากส่วนเหนือดินของคื่นไฉ่มีฤทธิ์สมานแผล ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด และฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารในหนูแรทได้ ซึ่งคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์น่าจะเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยสารสกัดมีผลยับยั้งการเกิดการออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) และเพิ่มปริมาณของ non-protein sulfhydryl (NP-SH) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารเมือกเพื่อเคลือบกระเพาะอาหารด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาความผิดปกติในกระเพาะอาหารได้
Planta Med 2014;80:PD40