ฤทธิ์ป้องกันการเกิดความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์เพศชายของน้ำองุ่นเข้มข้น

ทดสอบฤทธิ์ของการให้น้ำองุ่นแดง (Vitis labrusca ) ในระยะยาวต่อการป้องกันการเกิดความเป็นพิษของระบบสืบพันธุ์เพศผู้ โดยทดสอบในหนูแรท 54 ตัว แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ กลุ่มที่ 2 เป็นหนูที่ถูกชักนำให้ระบบสืบพันธุ์เป็นพิษด้วยสารแคดเมียมเพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นหนูที่ถูกชักนำให้ระบบสืบพันธุ์เป็นพิษด้วยสารแคดเมียมและให้น้ำองุ่นขนาด 1.18 และ 2.36 ก./กก./วัน ตามลำดับ กลุ่มที่ 5 และ 6 เป็นหนูที่มีการให้น้ำองุ่นขนาด 1.18 และ 2.36 ก./กก./วัน ตามลำดับ โดยไม่ถูกชักนำให้ระบบสืบพันธุ์เป็นพิษ ในการทดลองจะชักนำให้หนูเกิดความเป็นพิษโดยการฉีดสารแคดเมียมขนาด 1.2 มก./กก.นน.ตัว บริเวณใต้ท้อง และให้น้ำองุ่นทางปากเป็นเวลา 56 วัน ทำการวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ได้แก่ มวลกาย ระดับเทสโทสเทอโรนในเลือด น้ำหนักอวัยวะของระบบสืบพันธุ์ ปริมาณการสร้างอสุจิต่อวัน ลักษณะของตัวอสุจิ ลักษณะของอัณฑะ และวัดตัวบ่งชี้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในอัณฑะ เพื่อประเมินความเสียหายของระบบสืบพันธุ์ ผลการทดสอบพบว่าน้ำองุ่นขนาด 1.18 ก./กก.นน.ตัว ไม่ส่งผลในการป้องกันการเกิดความเป็นพิษของระบบสืบพันธุ์ แต่น้ำองุ่นขนาด 2.36 ก./กก.นน.ตัว ช่วยป้องกันการทำลายระบบสืบพันธุ์จากสารแคดเมียมได้ โดยพบว่าช่วยปรับปรุงค่าดัชนีความสมบูรณ์เพศ (gonadosomatic index) ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเลือด น้ำหนักของถุงเก็บตัวอสุจิใกล้อัณฑะ (epididymis) และต่อมลูกหมากส่วนล่าง ร้อยละของตัวอสุจิที่ปกติ ลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาและลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ที่วัดได้ พบว่าค่าพารามิเตอร์เหล่านี้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยทำให้ระดับเอนไซม์ superoxide dismutase และระดับ glutathione ในอัณฑะกลับสู่ปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ให้สารแคดเมียมพบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ สรุปได้ว่าน้ำองุ่นขนาด 2.36 ก./กก.นน.ตัว/วัน มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดความเป็นพิษจากสารแคดเมียมในระบบสืบพันธุ์ของหนูแรทโดยผ่านกลไกการต้านอนุมูลอิสระ

Br J Nutr 2013;110(11):2020-9