สารสกัดแป๊ะก๊วยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ในภาวะสมองเสื่อม

ศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba ) ต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานของสมองในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยทำการทดลองในหนูแรท 48 ตัวที่ผ่านการทดสอบพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำด้วยวิธี Y-maze test จากนั้นแบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 ตัว) กลุ่มที่ 1 ฉีดน้ำเกลือเข้าทางช่องท้อง (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ฉีดสาร D -galactose เข้าทางช่องท้องเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมขนาดวันละ 100 มก./กก. นาน 8 สัปดาห์ กลุ่มที่ 3, 4 และ 5 ฉีดสาร D -galactose ขนาดวันละ 100 มก./กก. และป้อนสารสกัดใบแป๊ะก๊วยขนาดวันละ 0.875, 1.75 และ 3.5 มก./กก. ตามลำดับ นาน 8 สัปดาห์ กลุ่มที่ 6 ฉีดสาร D -galactose วันละ 100 มก./กก. นาน 8 สัปดาห์ จากนั้นเลี้ยงหนูต่อไปอีก 2 สัปดาห์โดยระหว่างเลี้ยงทำการป้อนสารสกัดใบแป๊ะก๊วยวันละ 1. 75 มก./กก. ในระหว่างการเลี้ยงมีการทดสอบทดสอบพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำของหนูทุกกลุ่มด้วยวิธี Y-maze test ซ้ำทุก 2 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง (สัปดาห์ที่ 10) ทำการชำแหละซากและแยกเก็บสมองหนู เพื่อนำมาวิเคราะห์ลักษณะโดยทั่วไปของสมองในส่วน hippocampus ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างความทรงจำ วิเคราะห์อัตราการตายของเซลล์สมองและการแสดงออกของโปรตีน phospho – protein kinase B (PKB) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการอยู่รอดของเซลล์สมอง ด้วยวิธี cresyl violet staining, TUNEL และ immunohistochemistry staining ตามลำดับ ผลจากการศึกษาพบว่าหนูแรทที่ได้รับสารสกัดใบแป๊ะก๊วยทุกกลุ่มมีพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำดีขึ้นเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับสาร D -galactose เพียงอย่างเดียว และผลการวิเคราะห์อัตราการตายของเซลล์สมองพบว่า หนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบแป๊ะก๊วยทุกขนาดพร้อมกับการฉีดสาร D -galactose มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูที่ฉีดสาร D -galactose เพียงอย่างเดียว ในขณะที่หนูในกลุ่มที่ได้รับการป้อนสารสกัดใบแป๊ะก๊วยหลังจากฉีกสาร D -galactose (กลุ่มที่ 6) พบว่า มีอัตราการตายของเซลล์สมองไม่แตกต่างจากหนูกลุ่มที่ฉีดสาร D -galactose เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การป้อนสารสกัดใบแป๊ะก๊วยทุกขนาดยังมีผลเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน PKB อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูที่ฉีดสาร D -galactose เพียงอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่า สารสกัดใบแป๊ะก๊วยมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และความจำในภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย D -galactose ได้

J Biomed Res 2013; 27(1): 29-36