คำถาม : สกัดสมุนไพร คือ เปลือกมะกรูด ขมิ้นชัน และตะไคร้
  • ถ้าต้องการสกัดสมุนไพร คือ เปลือกมะกรูด ขมิ้นชัน และตะไคร้ด้วยแอลกอฮอล์
    1. มีวิธีสกัดขั้นตอนอย่างไรบ้างคะ
    2. ต้องใช้ปริมาณสมุนไพรแห้งและแอลกอฮอล์เท่าไหร่คะ
    3. ในกรณีที่ต้องการระเหยแอลกอฮอล์ออกโดยไม่มีเครื่องระเหยแอลกอฮอล์ต้องใช้วิธีไหนคะ (วิธีแบบละเอียด)
    4. สามารถเช็คได้อย่างไรว่าแอลกอฮอล์ระเหยหมดแล้ว (มีสูตรคำนวนมั้ยคะ)
    5. ถ้าต้องการนำสารสกัดที่ได้มาผสมกับน้ำ ควรใช้ emulsifier ตัวไหนคะ

  • Date : 28/2/2568 14:40:00
คำตอบ :
1. มีวิธีสกัดขั้นตอนอย่างไรบ้างคะ
ตอบ ตัวอย่างการสกัดด้วยแอลกอฮอล์
การแช่ในตัวทำละลาย (Maceration)
- ชั่งสมุนไพร ใส่ในถุงผ้าดิบ
- แช่เอทานอล 2-3 เท่าตัว หรือให้ท่วมสมุนไพร ในภาชนะปิดสนิททิ้งไว้ 7 วัน คนทุกวัน
- กรองเอาส่วนน้ำ บีบสารละลายออกจากกาก
- แล้วเติมสารละลาย เพื่อล้างกาก ทำซ้ำอีกครั้ง เป็นการแช่ซ้ำ เพื่อให้ได้สารสกัดมากที่สุด
- เอาสารสกัด 2 ครั้งรวมกัน สามารถระเหยตัวทำละลายให้ออกจากสารสกัดออกด้วยเครื่องระเหยสุญญากาศ หรือตั้งบนหม้ออังไอน้ำ (ห้ามตั้งบนเตาไฟโดยตรง อาจทำให้ไฟลุกได้) ก่อนนำไปใช้งานหรือผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้น

2. ต้องใช้ปริมาณสมุนไพรแห้งและแอลกอฮอล์เท่าไหร่คะ
ตอบ คำตอบอยู่ในข้อ 1 แล้ว นะคะ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมควรหาข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับวิธีการสกัดเพิ่มโดยใช้ Key word เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของแต่ละชนิดพืช, chemical, extraction (มีเอกสารงานวิจัยแนบให้เป็นแนวทางนะคะ คงต้องไปหาเพิ่มเติมนะคะ)

3. ในกรณีที่ต้องการระเหยแอลกอฮอล์ออกโดยไม่มีเครื่องระเหยแอลกอฮอล์ต้องใช้วิธีไหนคะ (วิธีแบบละเอียด)
ตอบ สามารถทำได้โดยนำสารสกัดไประเหยเอาตัวทำละลาย (เอทานอล) ออกด้วยเครื่องระเหยสุญญากาศ เช่น rotary evaporator หรือ freeze dryer หรือตั้งบนหม้ออังไอน้ำ แต่หากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถระเหยแอลกอฮอล์ออกได้โดยใส่สารสกัดในภาชนะปากกว้างและตั้งไว้บริเวณที่อากาศถ่ายเทปล่อยให้ตัวทำละลายหระเหยเองแต่จะให้เวลานาน หรืออาจใช้ความร้อนช่วยให้ตัวทำละลายระเหย โดยแช่ภาชนะที่มีสารสกัดอยู่ในหม้อที่มีน้ำร้อนที่ตั้งบนเตาไฟหรือเตาไฟฟ้า โดยไม่ตั้งภาชนะที่มีสารสกัดอยู่เบาเตาไฟโดยตรงเพราะอาจทำให้ติดไฟได้และอาจทำให้สารสกัดไหม้ได้เมื่อตัวทำละลายแห้ง อย่างไรก็ตามการใช้ความร้อนอาจทำให้สารสำคัญบางชนิดสลายตัวได้ อย่างไรก็ตามสารสกัดที่ได้หลังระเหยตัวทำละลายออกจะได้สารสกัดหยาบ (crude extract) ที่มีองค์ประกอบของสารหลายชนิด (อ้างอิงจากถามตอบข้อ 7644)

4 สามารถเช็คได้อย่างไรว่าแอลกอฮอล์ระเหยหมดแล้ว (มีสูตรคำนวนมั้ยคะ)
ตอบ การจะดูว่าแอลกอฮอล์เหลืออยู่ในสารสกัดหลังระเหยตัวทำละลายออกแล้วหรือไม่อาจต้องใช้เครืองมือวิเคราะห์ เช่น GCMS แต่สามารถประเมินแบบง่ายๆ ได้จากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ใช้สกัดและปริมาณสารสกัดที่เหลือ โดยหากสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95% โดยไม่ผสมน้ำเพิ่มเติม ให้การระเหยแห้งจะต้องระเหยจนได้สารสกัดแห้งหรือข้นหนืดเพื่อให้มั่นใจว่าแอลกอฮอล์ที่ใช้ระเหยไปหมดเหลือแต่สารสกัดที่ได้ แต่หากมีการผสมน้ำด้วย ในการระเหยแอลกอฮอล์ออกจะต้องประเมินจากปริมาณแอลกอฮอล์และน้ำที่ใช้ โดยให้ระเหยเอาตัวทำละลายออกได้มากสุด โดยให้ปริมาตรที่เหลือให้เหลือน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ใส่เข้าไปผสม ซึ่งก็ถือว่าแอลกอฮอล์ระเหยไปหมดหรือเกือบหมด เนื่องจากปกติแอลกอฮอล์จะระเหยได้ง่ายกว่าน้ำ และระเหยออกไปก่อน (อ้างอิงจากถามตอบข้อ 7715)

5. ถ้าต้องการนำสารสกัดที่ได้มาผสมกับน้ำ ควรใช้ emulsifier ตัวไหนคะ
ตอบ การเลือกใช้สารอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) ชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์เป็นหลัก เนื่องจากสารทำอิมัลชันมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน โดยสารทำอิมัลชันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. สารลดแรงตึงผิว (surfactant) แบ่งเป็น
- สารลดแรงตึงผิวประจุลบ (anionic surfactant) ได้แก่ สารในกลุ่ม fatty acid soap นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และแชมพู เช่น triethanolamine stearate, sodium lauryl sulfate, sodium cetearyl sulfate เป็นต้น
- สารลดแรงตึงผิวประจุบวก (cationic surfactant) มักใช้เป็นสารกันเสีย ฆ่าเชื้อโรค หรือสารปรับสภาพเส้นผม นิยมในผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน และครีมนวดผม เช่น cetyltrimethyl ammonium bromide, quaternary ammonium compound
- สารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ (nonionic surfactant) นิยมใช้ในการเตรียมโลชั่นและครีมทางผิวหน้าและผิวกาย หรือสบู่เหลวล้างหน้า เนื่องจากไม่ระคายผิวเหมือนสารลดแรงตึงผิวแบบมีประจุ เช่น polysorbate 20, polysorbate 80, decyl glucoside, lauryl glucoside
- สารลดแรงตึงผิวที่มีทั้งประจุบวกและประจุลบ (amphoteric surfactant) สารนี้จะเป็นสารที่กลายเป็นประจุบวกหรือลบได้โดยขึ้นอยู่กับความเป็นกรดด่าง (pH) ในจำรับ จึงนิยมใช้เป็นส่วนประกอบในสบู่และแชมพูสำหรับเด็ก เช่น sodium lauroamphoacetate, cocamidopropyl betaine, sodium cocoamphoacetate
2. พอลิเมอร์ (polymer) ใช้เป็นสารเพิ่มความคงสภาพและเพิ่มความหนือดให้แก่เนื้อครีม เช่น Carbopol, acacia, tragacanth, xanthan gum, carrageenan, pectin, gelatin

อ้างอิง :
1. ดวงดาว ฉันทศาสตร์, วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเส้นผมบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าถึงจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0474.pdf
2. คู่มือการผลิตเครื่องสำอางขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
(อ้างอิงจากถามตอบข้อ 7650)