คำถาม : การเลือกใช้สารอิมัลซิไฟเออร์- ถ้าเราจะผสมน้ำที่สกัดจากโหระพาผสมกับน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกมะกรูดเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ ควรใช้อะไรเป็นตัวอิมัลซิไฟเออร์ดีคะ
- Date : 30/4/2567 16:08:00
คำตอบ : การเลือกใช้สารอิมัลซิไฟเออร์ชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์เป็นหลัก เนื่องจากสารทำอิมัลชันมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน โดยสารทำอิมัลชันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. สารลดแรงตึงผิว (surfactant) แบ่งเป็น
- สารลดแรงตึงผิวประจุลบ (anionic surfactant) ได้แก่ สารในกลุ่ม fatty acid soap นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และแชมพู เช่น triethanolamine stearate, sodium lauryl sulfate, sodium cetearyl sulfate เป็นต้น
- สารลดแรงตึงผิวประจุบวก (cationic surfactant) มักใช้เป็นสารกันเสีย ฆ่าเชื้อโรค หรือสารปรับสภาพเส้นผม นิยมในผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน และครีมนวดผม เช่น cetyltrimethyl ammonium bromide, quaternary ammonium compound
- สารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ (nonionic surfactant) นิยมใช้ในการเตรียมโลชั่นและครีมทางผิวหน้าและผิวกาย หรือสบู่เหลวล้างหน้า เนื่องจากไม่ระคายผิวเหมือนสารลดแรงตึงผิวแบบมีประจุ เช่น polysorbate 20, polysorbate 80, decyl glucoside, lauryl glucoside
- สารลดแรงตึงผิวที่มีทั้งประจุบวกและประจุลบ (amphoteric surfactant) สารนี้จะเป็นสารที่กลายเป็นประจุบวกหรือลบได้โดยขึ้นอยู่กับความเป็นกรดด่าง (pH) ในจำรับ จึงนิยมใช้เป็นส่วนประกอบในสบู่และแชมพูสำหรับเด็ก เช่น sodium lauroamphoacetate, cocamidopropyl betaine, sodium cocoamphoacetate
2. พอลิเมอร์ (polymer) ใชเป็นสารเพิ่มความคงสภาพและเพิ่มความหนือดให้แก่เนื้อครีม เช่น Carbopol, acacia, tragacanth, xanthan gum, carrageenan, pectin, gelatin
อ้างอิง :
1. ดวงดาว ฉันทศาสตร์, วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเส้นผมบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าถึงจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0474.pdf
2. คู่มือการผลิตเครื่องสำอางขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข