การศึกษาผลกระทบจากการเติมนมและสารให้ความหวาน เช่น น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง และหญ้าหวาน (Stevia rebaudiana  Bertoni) ลงในชาดำและชาเขียว (Camellia sinensis ) จากประเทศเคนยา (Kenyan teas) ในหลอดทดลองพบว่า การเติมนม (0 - 40%) น้ำตาลทราย (3 และ 10 ก./100 มล.) และน้ำผึ้ง (3 และ 10 ก./100 มล.) จะทำให้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของชาลดลง ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของ sucrose ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำผึ้งและน้ำตาล และสาร gallic acid ในชา และเกิดการจับกันของโปรตีน casein ในนม และสาร catechins ในชา โดยฤทธิ์ดังกล่าวจะขึ้นกับความเข้มข้นของนมและสารให้ความหวานที่ใส่ลงในชา ในขณะที่การเติมหญ้าหวาน (3 และ 10 ก./100 มล.) จะไม่มีผลต่อฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของชา เนื่องจากสาร glycosides ในหญ้าหวานไม่ทำปฏิกิริยากับสารสำคัญในชา และการทดลองในหนูเม้าส์โดยให้หนูดื่มชาเขียว ชาดำ และชาม่วง (เป็นชาที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ในประเทศเคนยา ซึ่งยอดชาจะมีสีม่วงแดงหรือน้ำตาลแดงและมีสารแอนโทไซยานินสูง) พบว่าหนูจะมีระดับของ glutathione (สารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งในร่างกาย) ในเลือดสูงสุดหลังการดื่มชา 2 ชม. และการเติมนมลงในชาดำ 2% จะช่วยให้ระดับของ glutathione ในเลือดสูงขึ้น เมื่อเทียบกับชาประเภทอื่น แต่การเติมนมมากกว่า 2% ก็ทำให้ระดับของ glutathione ในเลือดลดลงเช่นกัน ในขณะที่ระดับของ glutathione ในตับ ไต และสมอง จะเพิ่มสูงสุดหลังการดื่มชา 30 นาที - 4 ชม. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดื่มชาทุกๆ 2 ชม. จะทำให้ร่างกายมีระดับของ glutathione ในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา
Food Chemistry 2014;145:14553.