แม้การบริโภคชาเขียวเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งผู้บริโภคอาจไม่ทราบถึงผลต่อร่างกายจากการบริโภคชาเขียว มีรายงานว่าในชาเขียวพบสารโพลีฟีนอล Epigallocatechin 3-gallat (EGCG) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระแต่การบริโภคในปริมาณสูงก็อาจส่งผลเสียต่อตับได้ การศึกษาเพื่อทดสอบผลของสารสกัดชาเขียวในหนูเม้าส์ ทั้งในหนูปกติและหนูที่ถูกชักนำให้เป็นไข้ด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) และส่งผลให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ (health-compromised mice) โดยให้สารสกัดต่างๆ ของชาเขียว ได้แก่ น้ำ เฮกเซน เมทานอล ส่วนสกัดฟีนอลิก (phenolic fraction) และส่วนสกัดที่ไม่ใช่สารฟีนอลิก (non-phenolic fraction) ความเข้มข้น 500, 1,000 และ 2,500 มก./กก. โดยกรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร หรือให้หนูกินสาร EGCG ความเข้มข้น 250, 750 และ 1500 มก./กก. ซึ่งหนูกลุ่มที่ได้รับ EGCG นี้จะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับ EGCG เพียงอย่างเดียวหรือได้รับการฉีด LPS เข้าทางช่องท้องร่วมด้วย จากนั้นจึงทำการวัดระดับค่า alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP) และศึกษาลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของตับ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับสาร EGCG ในขนาดสูงร่วมกับ LPS ตับจะถูกทำลายซึ่งการที่หนูได้รับ EGCG ในขนาดสูงติดต่อกันจะทำให้ตับถูกทำลายเล็กน้อย แต่หากได้รับในขณะที่มีไข้ก็จะยิ่งเพิ่มความเป็นพิษต่อตับ การศึกษาครั้งนี้ช่วยยืนยันได้ว่าการบริโภคชาเขียวในระยะเวลาสั้นๆ มีความปลอดภัย แต่ถ้าบริโภคในปริมาณสูงอาจส่งผลให้ตับถูกทำลายและความเป็นพิษอาจยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อบริโภคในขณะที่เป็นไข้
Fitoterapia 2013 : 90 ; 151-159