ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับจากภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการดื่มสุราของสารสกัด S-allylmercaptocysteine (SAMC) จากกระเทียม โดยทำการทดลองในหนูแรทเพศเมียจำนวน 28 ตัว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 7 ตัว) กลุ่มที่ 1 ให้เป็นกลุ่มควบคุม เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ กลุ่มที่ 2 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูง (ประกอบด้วยน้ำมันปลา 30%) เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ กลุ่มที่ 3 เลี้ยงด้วยอาหารปกติ และฉีดสารสกัด SAMC ขนาด 200 มก./กก. เข้าทางช่องท้องสัปดาห์ละ 3 ครั้ง กลุ่มที่ 4 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูง และฉีดสารสกัด SAMC ขนาด 200 มก./กก. เข้าทางช่องท้องสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เลี้ยงหนูทุกกลุ่มจนครบ 8 สัปดาห์ จากนั้นทำการผ่าซากและชำแหละเก็บเนื้อเยื่อตับเพื่อตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้วยเทคนิคจุลกายวิภาคศาสตร์ และเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าชีวเคมีที่เปลี่ยนแปลงไป ผลจากการทดลองพบว่า การฉีดสารสกัด SAMC ให้แก่หนูแรท มีผลยับยั้งการเกิดความเสียหายของตับ การสะสมไขมันในตับ และการสร้างคอลลาเจน ลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างไขมันคือ sterol regulatory element binding protein-1c (SREBP1c) และเพิ่มการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายไขมันคือ adiponectin เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูง และยังมีผลยับยั้งการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างผังผืดในตับ (hepatic fibrosis) ซึ่งได้แก่ transforming growth factor-beat1 (TGF-β1), alpha smooth muscle actin (α-SMA) และ procolagen-1 (PC-1) อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าการฉีดสารสกัด SAMC ให้แก่หนูแรทมีผลยับยั้งการลดลงของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระได้แก่ catalase และ glutathione peroxidase และยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้แก่ tumor necrosing factor-alpha (TNF-α), interleukin-1 beta (IL1β), inducible nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase (COX2), monocyte chemoattractant protein-1 (MCP-1), macrophage inflammatory protein-2 (MIP-2) และ murine interleukin-8 ortholog (KC) แสดงให้เห็นว่าสารสกัด SAMC จากกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งความเสียหายของตับจากภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการดื่มสุราได้
Eur J Nutr 2013; 52: 179-91