ผ้าไหมเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากธรรมชาติที่สำคัญทางภาคเหนือของไทยซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของคุณภาพและความสวยงาม แต่ตัวหนอนไหมซึ่งให้เส้นใยไหมมักประสบปัญหาการติดเชื้อจุลชีพในฤดูฝนและฤดูร้อน ทำให้ผ้าไหมมีคุณภาพต่ำลง เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมมีการใช้ฟอร์มาลีนในการทำลายเชื้อจุลชีพ แต่อาจส่งผลเสียต่อมนุษย์และสัตว์ เกิดความเป็นพิษและปนเปื้อนในตัวหนอนไหมซึ่งเมื่อนำมารับประทานอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงมีการทดสอบฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อราของสมุนไพรไทย 11 ชนิดได้แก่ กะเพรา สะระแหน่ ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ มะกรูด ไพล ช้าพลู โหระพา และพลู โดยเตรียมสมุนไพรจากการสกัดโดยวิธี soxhlet เป็นการสกัดโดยใช้ความร้อนและการควบแน่นและ maceration เป็นการสกัดโดยการแช่สมุนไพรในตัวทำละลายโดยไม่ใช้ความร้อน ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา Aspergillus 3 ชนิด ได้แก่ A. flavus, A.oryzae และ A. niger ด้วยเทคนิค paper disc diffusion (หลักการทั่วไปคือ การทำให้สารสกัดสมุนไพรที่มีในแผ่นกระดาษกรอง paper disc ที่เตรียมไว้ก่อน ซึมไปในอาหารเลี้ยงเชื้อที่ได้กระจายเชื้อในจำนวนที่เหมาะสมไว้ แล้วนำไปเพาะเลี้ยงให้เชื้อเจริญเติบโต อ่านผลการทดสอบโดยการวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ inhibition zone ซึ่งจะเห็นเป็นวงใสไม่มีโคโลนีเชื้อรอบๆ แผ่น disc ความสามารถในการยับยั้งเชื้อแปรตามขนาดของ inhibition zone) และเทคนิค microplate assays (เป็นการทดสอบหาความเข้มข้นของสมุนไพรในการยับยั้งเชื้อจุลชีพในถาดหลุม) ผลการทดสอบพบว่ามะกรูด ไพล และขมิ้นมีฤทธิ์ยับยั้งการงอกของสปอร์และการเจริญเติบโตของเชื้อราโดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อของสารสกัดสมุนไพร (MIC) เท่ากับ 6.25-1.25 ppm ในขณะที่กลุ่มควบคุมที่ใช้ฟอร์มาลีนและยา ketoconazole ให้ค่า MIC ที่ 3.12-6.25 ppm. ดังนั้นพืชสมุนไพร 3 ชนิดดังกล่าวจึงมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราได้
Planta Med 2013 ; 79-PL14