ฤทธิ์ป้องกันรังสี UVB ของสาร artocarpin จากสาเก

ศึกษาฤทธิ์ป้องกันรังสี ultraviolet B (UVB) ของสาร artocarpin จากสาเก โดยทำการทดลองในหนูเมาส์เพศผู้ที่ไม่มีขน (Balb/c Nude) 16 ตัว แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 4 ตัว) กลุ่มที่ 1 ทาผิวหนังด้วยตัวทำละลายและเลี้ยงในสภาวะปกติ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ทาผิวหนังด้วยตัวทำละลาย และให้ได้รับรังสี UVB กลุ่มที่ 3 และ 4 ทาผิวหนังด้วยยาเตรียมที่มีสาร artocarpin ผสมอยู่ 0.1 และ 0.05% ตามลำดับ และให้ได้รับรังสี UVB โดยวิธีการฉายรังสี UVB ในสัปดาห์แรกจะให้ความเข้มแสงที่ 50 มิลลิจูล/ตร.ซม. และในสองสัปดาห์ถัดมาจะให้ความเข้มแสงที่ 75 มิลลิจูล/ตร.ซม. ทำการฉายรังสี 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งใช้เวลา 2 นาที โดยการทาสารละลายและยาเตรียม artocarpin บนผิวหนังหนูบริเวณหลัง จะทาก่อนเข้ารับการฉายรังสี 30 นาที เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองในสัปดาห์ที่ 3 ทำการชำแหละซากเก็บเนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังเพื่อตรวจการเปลี่ยนแปลง วิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และวัดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ พบว่าการทาผิวหนังด้วยยาเตรียมที่มีสาร artocarpin ผสมอยู่ 0.1 และ 0.05% สามารถลดความความเสียหายของผิวหนังที่เกิดจากการได้รับรังสี UVB ได้ แต่ประสิทธิภาพของยาเตรียม artocarpin 0.05% จะดีกว่า 0.1% เนื่องจากพบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยลดการเกิด reactive oxygen species (ROS) และการเกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ทาผิวหนังด้วยตัวทำละลายเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ยาเตรียม artocarpin 0.1% สามารถลดการเกิด ROS ได้ แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ทาผิวหนังด้วยตัวทำละลายเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การทาผิวหนังด้วยยาเตรียมที่มี artocarpin ผสมอยู่ทั้ง 0.1 และ 0.05% มีผลยับยั้งการแสดงออกของ tumor necrosing factor-α (TNF-α), interleukin-1β (IL1β), cytosolic phospholipase A2 (cPLA2) และ cyclooxygenase-2 (COX-2) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้ ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาร artocarpin จากสาเกมีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของผิวหนังที่เกิดจากการได้รับรังสี UVB ได้

Food Chem Toxicol 2013; 60: 123-9