ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสำคัญจากขิง

การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร hexahydrocurcumin, 1-dehydro-[6]-gingerdione, 6-dehydroshogaol และ 6-shogaol ที่แยกได้จากขิง (Zingiber officinale ) พบว่า เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picyrlhydrazyl (DPPH) radical-scavenging และ trolox equivalent antioxidant capacity (TEAC) assays ลำดับความแรงของฤทธิ์ดังกล่าวเป็นดังนี้ 1-dehydro-[6]-gingerdione, hexahydrocurcumin > 6-shogaol > 6-dehydroshogaol และสารทุกตัวสามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ prostaglandin E2 (PGE2) ในเซลล์ murine macrophages (RAW 264.7) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้อักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) ได้ ซึ่งความแรงจะขึ้นกับขนาดที่ให้ ยกเว้นสาร hexahydrocurcumin และ 6-shogaol ที่ขนาด 7 ไมโครโมลาร์ ซึ่งไม่มีผลยับยั้งการสร้าง PGE2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่สาร 6-dehydroshogaol และ 6-shogaol ขนาด 14 ไมโครโมลาร์ แสดงฤทธิ์แรงที่สุด โดยสามารถยับยั้งได้53.3% และ 48.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ สาร 6-dehydroshogaol และ 1-dehydro-[6]-gingerdione ยังยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน inducible nitric oxide synthase (iNOS) และ cyclooxygenase-2 (COX-2) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างสารก่อการอักเสบ โดยความแรงของการออกฤทธิ์จะขึ้นกับขนาดที่ให้ จากผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การบริโภคขิงไม่ว่าจะในรูปแบบของอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

Food Chemistry 2012; 135: 332 - 7