การศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและต้านไกลเคชั่นของชาที่ทำจากสมุนไพรไทย 15 ชนิด ได้แก่ หญ้าหนวดแมว ตะไคร้ กระเจี๊ยบแดง มะขามแขก หม่อน คำฝอย ดายขัด ช้าพลู ชุมเห็ดเทศ ย่านาง ชะเอมเทศ มะรุม หญ้าหวาน ฝาง และแป๊ะตำปึง เปรียบเทียบกับชา (Camellia sinensis ) 3 ชนิด คือ ชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง พบว่าชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาสมุนไพร เมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS และ FRAP assays ยกเว้นชาหญ้าหวานซึ่งจะมีฤทธิ์ดีกว่าชาดำและชาอู่หลง เมื่อเปรียบเทียบผลในบรรดาชาทั้งหมด จะเห็นว่าชาเขียวมีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ ขณะที่ชาชะเอมเทศมีฤทธิ์อ่อนที่สุด แต่ในการทดสอบด้วยวิธี metal chelating capacity พบว่าชาแป๊ะตำปึง หม่อน และดายขัด จะมีฤทธิ์ดีกว่าชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง สำหรับการศึกษาฤทธิ์ต้านไกลเคชั่น ชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง มีฤทธิ์สูงกว่าชาสมุนไพร ยกเว้นชาหญ้าหวานและฝางที่มีฤทธิ์ดีกว่าชาอู่หลง เมื่อเทียบกับชาทั้งหมดพบว่า ชาเขียวจะมีฤทธิ์ดีที่สุด ขณะที่ชาดายขัดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด ในการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของชาสมุนไพร พบว่าชาสมุนไพรส่วนใหญ่จะมีปริมาณของสารฟีนอลิกรวม (total phenolics) และฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ต่ำกว่าชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง ยกเว้นชาหญ้าหวานและฝางซึ่งจะมีปริมาณของสารทั้ง 2 ชนิด สูงกว่าชาอู่หลง ชาที่มีปริมาณสารฟีนอลิกรวมและฟลาโวนอยด์สูงที่สุด คือ ชาเขียว ส่วนชาที่มีปริมาณสารฟีนอลิกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฟลาโวนอยด์ (non-flavonoids) สูง ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ มะรุม ย่านาง และดายขัด สรุปได้ว่าชาสมุนไพรไทยโดยเฉพาะชาหญ้าหวานและชาฝาง มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและต้านไกลเคชั่นได้ดี นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
Food Chemistry 2010;13:953-9.