การศีกษาความเป็นพิษของสารสกัดจากเกสรบัว

ในการศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัด 95% เอทานอลจากเกสรบัว โดยป้อนสารสกัดขนาด 5 ก./กก. เพียงครั้งเดียวแก่หนูแรทเพศผู้และเพศเมีย และสังเกตอาการทางคลินิคเป็นเวลา 14 วัน ผลพบว่าสารสกัดไม่ทำให้เกิดพิษหรือทำให้หนูตาย และไม่มีผลต่อน้ำหนักตัวและอวัยวะภายในของหนูทั้งสองเพศ สำหรับการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง เมื่อป้อนสารสกัด ขนาด 50, 100, และ 200 มก./กก./วัน เป็นเวลานาน 90 วัน พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษหรือทำให้หนูตาย และไม่พบความแตกต่างของน้ำหนักตัวระหว่างหนูในกลุ่มควบคุมและหนูที่ได้รับสารสกัด ยกเว้นหนูเพศเมียที่ได้รับสารสกัดขนาด 200 มก./กก. ซึ่งจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ากลุ่มควบคุม สารสกัดในขนาดสูง คือ 200 มก./กก. จะมีผลทำให้ค่าโลหิตวิทยาและชีวเคมีในเลือดบางค่าของหนูเปลี่ยนแปลงไป โดยหนูเพศผู้จะมีปริมาณของเม็ดเลือดขาว lymphocyte เพิ่มขึ้น แต่ basophile ลดลง หลังจาก 90 วัน แต่จะไม่พบการเปลี่ยนแปลงนี้ภายหลังจาก 118 วัน และปริมาตรของเม็ดเลือดแดงโดยเฉลี่ย (mean corpuscular volume) จะลดลงเล็กน้อย ภายหลังจาก 118 วัน ในหนูเพศเมียจำนวนของเม็ดเลือดแดงและความเข้มข้นของเลือด (hematocrit) ลดลงเล็กน้อย และความเข้มข้นเฉลี่ยของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (mean corpuscular hemoglobin concentration) จะเพิ่มขึ้น ภายหลังจาก 118 วัน นอกจากนี้ยังพบว่าหนูเพศผู้จะมีปริมาณของครีตินินและคอเลสเตอรอลลดลง ส่วนหนูเพศเมียจะมีปริมาณของอัลบูมินลดลง ขณะที่เอนไซม์ alkaline phosphatase ในเลือดจะเพิ่มขึ้น สำหรับผลต่ออวัยวะภายใน พบว่าน้ำหนักของตับและไตในหนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดจะลดลงกว่ากลุ่มควบคุม น้ำหนักของหัวใจของหนูเพศเมียจะลดลงกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความผิดปกติทางพยาธิสภาพของอวัยวะภายในในหนูทั้งสองเพศ สรุปได้ว่าขนาดที่ทำให้เกิดพิษของสารสกัดจากเกสรบัว คือ มากกว่า 5 ก./กก. และขนาดสูงสุดของสารสกัดที่ไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติ (no-observed-adverse-effect level (NOAEL)) เท่ากับ 200 มก./กก.

J Ethnopharmacol 2011;134:789-95.