ผลของตำลึงต่อการตั้งครรภ์ในหนูแรทเพศเมียที่ทำให้เกิดภาวะตั้งครรภ์ยาก

การศึกษาในหนูแรทเพศเมียน้ำหนัก 200-250 กรัม ที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคติน (prolactin) ในเลือดสูง (hyperprolactinemia) หรือเหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย หรือเหนี่ยวนำให้เป็นโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งทำให้มีลูกยาก แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนน้ำเกลือ (normal saline) 1 มล./กก. กลุ่มที่ 2 ป้อนยาแผนปัจจุบัน bromocriptine เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการหลั่งฮอร์โมน prolactin ขนาด 30 มก./กก. หรือยา clomiphene citrate ที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ไข่ตกแต่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยา danazol ซึ่งเป็นยารักษาโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นกลุ่มที่ป้อนสารสกัดน้ำของตำลึงขนาด 500 มล./กก. (ขนาดต่ำ) และ 1,000 มล./กก. (ขนาดสูง) ตามลำดับ ทำการศึกษาทั้งสิ้นนาน 3 รอบของการมีรอบเดือน พบว่าหนูแรทที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน bromocriptine และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดสูง 1,000 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 6.4 ± 1.94 และ 6.0 ± 0.75 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 0.6 ± 0.4 ส่วนกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดต่ำ 500 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 5.0 ± 0.70 ซึ่งได้ผลน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน และสารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูง นอกจากนี้สารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูงมีฤทธิ์เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำตำลึงขนาดต่ำ และกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน clomiphene citrate ซึ่งสารสกัดน้ำตำลึงทั้งสองขนาดไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และไม่มีผลต่อความหนาของมดลูกและเยื่อบุมดลูก ส่วนการศึกษาในหนูแรทที่ได้รับยา danazol พบว่าทั้งยา danazol และสารสกัดตำลึงทั้งสองขนาดลดการเจริญเติบโตของเยื่อบุมดลูกเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดสูง 1,000 มล./กก. มีผลช่วยให้มีการเพิ่มการฝังตัวที่มดลูกเป็นการรักษาการมีลูกยากในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคตินในเลืดสูงได้ โดยไปเพิ่มจำนวนครั้งการฝังตัวของมดลูก เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่ได้ผลช่วยในการฝังตัวที่มดลูกในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ endometriosis หรือเหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย

J Ethnopharmacol 2010;127:561-4