ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสาร triterpenoids จากมะระขี้นก

เมื่อนำสารกลุ่ม triterpenoids จากมะระขี้นก ได้แก่ momordicosides Q, R, S, T, karaviloside XI, momorcharaside B, momordicoside A และ B รวมทั้ง aglycone ของ karaviloside XI และ momordicosides S มาทดสอบฤทธิ์ในการต้านเบาหวาน โดยศึกษาในเซลล์กล้ามเนื้อ L6 และเซลล์ไขมัน 3T3-L1 พบว่าสารทั้งหมดมีผลกระตุ้นการเคลื่อน (translocation) ของโปรตีน GLUT4 เข้าสู่เซลล์เมมเบรน โดยเฉพาะสาร karaviloside XI, momordicosides S และ aglycone ของสารทั้งสองนี้ จะเพิ่มการเคลื่อนที่ของ GLUT4 ได้ถึง 3 - 4 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับอินซูลิน (100 นาโนโมลลาร์) และยา AICAR (2 มิลลิโมลลาร์) ซึ่งความเข้มข้นของสารที่ให้ผล คือ 0.1 - 100 นาโนโมลลาร์ และยังมีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ AMP-activated protein kinase ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดเก็บกลูโคส (glucose uptake) และการออกซิเดชั่นของกรดไขมัน (fatty acid oxidation) ในเซลล์ไขมันด้วย สำหรับการทดลองในสัตว์ทดลองเมื่อให้ momordicosides S ขนาด 100 มก./กก. โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูเม้าส์ พบว่ามีผลเพิ่มการใช้พลังงานเล็ก น้อยและเพิ่มการออกซิเดชั่นของไขมัน เมื่อฉีดสาร momordicosides S ขนาด 100 มก./กก. และ momordicosides T ขนาด 10 มก./กก. เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ที่ไวต่ออินซูลิน (insulin-sensitive) มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนู นอกจากนี้สาร momordicosides T ขนาด 10 มก./กก. ยังมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่ดื้ออินซูลิน (insulin-resistance) ได้เช่นกัน สรุปได้ว่าสารกลุ่ม triterpenoids จากมะระขี้นก มีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นยาต้านเบาหวานและรักษาโรคอ้วนได้

Chemistry & Biology 2008;15(3):263-73.