การศึกษาในหนูแฮมสเตอร์ 32 ตัว สุ่มตัวอย่างแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมให้กินอาหารปกติ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวโดยได้รับอาหารปกติ 92.9% (w/w) ร่วมกับน้ำมันมะพร้าว 7% (w/w) และคอเลสเตอรอล 0.1% กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับเนยแข็ง โดยได้รับอาหารปกติ 92.9% (w/w) ร่วมกับเนยแข็ง 7% (w/w) และคอเลสเตรอล 0.1% กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดลินิน โดยได้รับอาหารปกติ 92.9% (w/w) ร่วมกับน้ำมันจากเมล็ดลินิน 7% (w/w) และคอเลสเตอรอล 1% ซึ่งปริมาณไขมันของทั้งกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าว เนยแข็ง และน้ำมันจากลินินเท่ากับ 5, 11.65, 11.65 และ 11.65% ตามลำดับ ทำการศึกษานาน 6 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักของหนูแฮมเตอร์ในกลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวและเนยแข็ง สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดลินินและกลุ่มควบคุม ระดับคอเลสเตอรอล และระดับ triacylglycerol ในเลือดและที่ตับเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับไขมันและคอเลสเตอรอลเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดลินินระดับไขมันในเลือดและที่ตับจะเพิ่มขึ้นในระดับต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวและเนยแข็ง ส่วนการถูกทำลายของตับเมื่อดูจากค่า glutamic oxaloacetic transminase (GOT) และ glutamic pyruvic transaminase (GPT) พบว่าทุกกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมไขมันและคอเลสเตอรอลระดับ GOT และ GPT ในเลือดสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ในกลุ่มที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดลินิน ระดับ GOT และ GPT จะต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวและเนยแข็ง นอกจากนี้ระดับ malodialdehyde (MDA) ในตับของกลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวและเนยแข็งสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดลินิน ในขณะที่ระดับ glutathione (GSH) ในตับของกลุ่มที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดลินินมีค่าสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวและเนยแข็ง จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าน้ำมันจากเมล็ดลินินสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และลดไขมันสะสมที่ตับในหนูแฮมสเตอร์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้คอเลสเตอรอลสูงได้
J Agric Food Chem 2009;57:5078-83