ผลป้องกันตับของน้ำมันมะกอก

การศึกษาผลในการป้องกันตับของน้ำมันมะกอกในหนูขาวซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้ตับถูกทำลายด้วยการฉีด 35% เอทานอลเข้าทางช่องท้อง โดยแบ่งหนูเป็นกลุ่มที่กินอาหารปกติ และกลุ่มที่กินอาหารซึ่งผสมด้วยน้ำมันมะกอก 5% เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งกินอาหารปกติ และฉีด 0.9% โซเดียมคลอไรด์เข้าทางช่องท้อง ทำการทดลองนาน 6 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยเอทานอล ทั้งที่กินอาหารปกติและกินอาหารที่ผสมน้ำมันมะกอก จะมีการกินอาหารและน้ำหนักตัวลดลง แต่จะมีน้ำหนักของตับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม หนูที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยเอทานอล จะมีการเปลี่ยนแปลงของกรดไขมันในตับ โดยกลุ่มกินอาหารปกติ จะมีปริมาณของกรด steric เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณของกรด linolenic ลดลง ขณะที่กลุ่มที่กินอาหารผสมน้ำมันมะกอกจะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) เพิ่มขึ้น มีปริมาณของกรด arachidonic, docosatetraenoic และ docosahexaenoic และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acid) ลดลง อัตราส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว / กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน / กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว จะลดลง เมื่อดูผลต่อการทำงานของตับ พบว่ากลุ่มที่กินอาหารผสมน้ำมันมะกอก จะลดปริมาณของเอนไซม์ในตับ ได้แก่ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase, plasma alkaline phosphatase และ γ-glutamyltransferase ซึ่งสูงขึ้นเนื่องจากตับถูกทำลายได้ แต่ไม่มีผลต่อ bilirubin นอกจากนี้อาหารผสมน้ำมันมะกอก ยังมีผลลดการเกิด lipid peroxidation โดยลดปริมาณของ malondialdehyde และเพิ่มระดับของเอนไซม์ superoxide dismutase, glutathione peroxidase และ catalase ในตับ แต่ไม่มีผลต่อเอนไซม์ glutathione reductase แสดงว่าน้ำมันมะกอกสามารถป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยเอทานอลได้ โดยมีผลมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

Nutrition Research 2008;28:472-9