ผลของสาร lupeol ต่อการหายของแผลในหนูขาว

การศึกษาในหนูขาวโดยแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว หนูจะมีบาดแผลชนิด excision (แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ) แผลชนิด incision (แผลจากของมีคม จากการผ่าตัด) และแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับการรักษาใดๆ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับยามาตรฐานแผนปัจจุบัน nitrofurazone และกลุ่มที่ 3 ได้รับยาที่มีส่วนผสมของสาร lupeol จากใบกระทุงลาย โดยกลุ่มที่เป็นแผลชนิด excision จะทาด้วยเจลกระทุงลาย 0.2%w/v (100 มก. ของ lupeol เตรียมใน 20% sodium alginate) ทาบาดแผล (ขนาด 250 มม2) นาน 16 วัน พบว่าเจลกระทุงลายสามารถช่วยทำให้แผลหายได้เร็วกว่ายาแผนปัจจุบัน (Nitrofurazone ointment) ในขณะที่กลุ่มที่เป็นแผลชนิด incision wound และ dead space wound กลุ่มที่ได้รับสาร lupeol จากใบกระทุงลายทางสายยางให้อาหาร (เตรียมสาร lupeol 8 มก./มล. ใน gum tragacanth) พบว่ากลุ่มที่ได้รับสาร lupeol จากใบกระทุงลาย จะเพิ่มความแข็งแรงของบาดแผล (skin breaking strength) ได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน (nitrofurazone) และกลุ่มควบคุม เช่นเดียวกับแผล dead space wound กลุ่มที่ได้รับสาร lupeol จากใบกระทุงลาย สามารถเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อและความแข็งแรงของแผลได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้การศึกษาโดยวิธี docking เปรียบเทียบสูตรโครงสร้างระหว่างสาร lupeol ในใบกระทุงลาย และยามาตรฐาน nitrofurazone ซึ่งพบว่าสาร lupeol จากใบกระทุงลายจะให้ประสิทธิภาพในการรักษาแผลได้ดีกว่ายามาตรฐาน nitrofurazone โดยไปยับยั้ง (inhibition constant) glycogen synthase kinase 3-β-protein (GSK3-β) ซึ่งค่าในการยับยั้ง (inhibition constant) GSK3-β ของสาร lupeol เท่ากับ 1.38 x 10-7 ในขณะที่ยา nitrofurazone มีค่าในการยับยั้ง (inhibition constant) เท่ากับ 1.35 x 10-4 จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสาร lupeol ในใบกระทุงลายมีศักยภาพในการรักษาแผลได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน nitrofurazone โดยการไปยับยั้ง GSK3-β

Phytomedicine 2008;15:763-7