ผลของช็อคโกแลตและโกโก้ต่อการทำงานของระบบจิตประสาท และระบบหัวใจและหลอดเลือดในผู้มีสุขภาพดี

การศึกษาชนิด double-blind randomized control trial ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 101 คน เป็นชาย 41 คน หญิง 60 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ให้รับประทานช็อคโกแลตแท่ง หรือเครื่องดื่มช็อคโกแลต จำนวน 51 คน อายุเฉลี่ย 68.76 ± 8.62 ปี BMI เฉลี่ยเท่ากับ 25.16 ± 3.40 กก./ม.2 กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมให้รับประทานช็อคโกแลต จำนวน 50 คน อายุเฉลี่ยเท่ากับ 68.73 ± 8.01 ปี BMI เฉลี่ยเท่ากับ 25.51 ± 3.56 กก./ม.2 ซึ่งกลุ่มที่ 1 ให้รับประทานช็อคโกแลต 1 แท่ง น้ำหนัก 37 กรัม ประกอบด้วย 60% โกโก้หรือประมาณ 11 กรัมของโกโก้บริสุทธิ์ และมีปริมาณโปรแอนไธไชยานินทั้งหมด 397.30 มก./ก. และให้รับประทานเครื่องดื่มโกโก้ขนาด 8 ออนซ์ (237 มล.) 1 ถ้วย (เทียบเท่ากับผงแห้งโกโก้ 12 กรัม มีโกโก้บริสุทธิ์ 11 กรัม ซึ่งประกอบด้วยปริมาณโปรแอนโธไซยานินทั้งหมด 357.41 มก./ก. โดยให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ทุกวันนาน 6 สัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มควบคุมให้รับประทานช็อคโกแลต แท่งหลอก และเครื่องดื่มซึ่งมีปริมาณโปรแอนโธไซยานินเท่ากับ 0.2 และ 40.87 มก./ก. ตามลำดับ พบว่าในส่วนของการทำ Neuropsychological test scores ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม และการตรวจเลือด พบว่าค่า total cholesterol, LDL, VLDL, HDL, triacylglycerol และระดับความดันโลหิตไม่มีความแตกต่างกันทั้ง 2 กลุ่ม ในขณะที่อัตราการเต้นของชีพจรเฉลี่ยในกลุ่มที่ได้รับช็อคโกแลตและโกโก้มีอัตราสูงขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการทดลองสรุปได้ว่า การบริโภคช็อคโกแลตหรือเครื่องดื่มโกโก้นาน 3-6 สัปดาห์ จะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของชีพจรได้ แต่ไม่มีผลต่อการทำงานของระบบจิตประสาทและระดับไขมันในเลือด

Am J Clin Nutr 2008; 87: 872-80