การศึกษาในครั้งนี้ศึกษาในผู้หญิงชาวเกาหลีอายุ 20-26 ปี น้ำหนักอยู่ระหว่าง 42.4-63 กก. ค่า BMI อยู่ในช่วง 16.4-25.1 กก./ม2 จำนวน 34 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานถั่วเหลืองขนาด 39 ก./วัน ในรูปแบบต่างๆ เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ให้รับประทาน isoflavone จากถั่วเหลืองขนาด 8 มก./วัน นานประมาณ 2 ปี และทำการตรวจวัดระดับความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) 3 ครั้ง/ปี ซึ่งกระดูกส่วนที่ทำการวัดความหนาแน่นคือ กระดูกสันหลังส่วนเอว (L2-L4) และกระดูกต้นขาส่วน femoral ที่ติดสะโพก ได้แก่ hip-femoral neck (FN), Wards triangle (WT) และ femoral trochanter (FT) ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครทั้งหมดมีกระดูกสันหลังส่วนเอว (L2-L4) ค่าความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก (BMD) มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยทุกปี ในขณะที่ค่า BMD ของกระดูก femoral ส่วน FN, WT และ FT นั้น มีแนวโน้มลดลงในปีแรก และเริ่มสูงขึ้นเล็กน้อยในปีที่ 2 หากคิดค่าความเปลี่ยนแปลงของ BMD เป็นเปอร์เซ็นต์พบว่า (L2-L4) FN และ WT เพิ่มขึ้น 2.5, 1.6 และ 5.2% ตามลำดับในเวลา 2 ปี ส่วนกระดูกส่วน FT ค่า BMD ลดลง 2.2% จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานถั่วเหลือง และ isoflavone จากถั่วเหลืองสามารถเพิ่มความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกสันหลังส่วนเอวและกระดูก femoral ส่วน FN และ WT ในผู้หญิงอายุน้อยชาวเกาหลีได้
Nutrition Research 2008;28:25-30