สารสกัดกลีบดอกของหญ้าฝรั่นในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

สารสกัดกลีบดอกหญ้าฝรั่นด้วย 80% เอทานอล ขนาด 15 มก./แคปซูล เมื่อนำมาทดสอบในผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ทั้งเพศชาย-หญิง อายุระหว่าง 18-55 ปี จำนวน 40 คน ซึ่งไม่ได้รับยาที่รักษาโรคทางจิตมาก่อนอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ก่อนทำการศึกษา โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กุล่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานสารสกัดกลีบดอกหญ้าฝรั่น ขนาด 30 มก./วัน (รับประทานเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แคปซูล) ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอก (รับประทานเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แคปซูล) นาน 6 สัปดาห์ และทำการวัดพฤติกรรมทางจิตโดยจิตแพทย์โดยใช้ Hamilton Rating Scale for Depression (HAM-D score) ในสัปดาห์ที่ 0, 1, 2, 4 และ 6 สัปดาห์หลังการศึกษา พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดกลีบดอกหญ้าฝรั่น HAM-D score จะลดลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และในระหว่างการทดลอง พบอาการข้างเคียงทั้ง 2 กลุ่ม เช่น ความกังวล ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร เหงื่อออก หัวใจเต้น แรง แต่อาการข้างเคียงนั้นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานสารสกัดกลีบดอกหญ้าฝรั่นสามารถรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเล็กน้อยจนถึงปานกลางได้ แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ต่อไป

Phytomedicine 2006;13:607-11