การทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะผิวหนังอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากใบ ลำต้น ผล และดอก (รวมทุกส่วนโดยไม่ระบุสัดส่วน) ของอินทนิลบก (Lagerstroemia macrocarpa Wall. Ex Kurz ) ในหลอดทดลอง โดยทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH (anionic radical) และ ABTS (cationic radical) assay โดยใช้สารสกัดขนาด 1-50 มคก./มคล. และทำการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธี cytotoxicity assay กับเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ (normal human epidermal keratinocytes; NHEK) โดยใช้สารสกัดขนาด 1-10 มคก./มคล. การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่าสารสกัดที่ขนาด 50 มคก./มคล. สามารถยับยั้ง anionic radical ได้ประมาณ 80% ที่ขนาด 5 และ >10 มคก./มคล. สามารถยับยั้ง cationic radical ได้ประมาณ 66% และ >90% ตามลำดับ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ NHEK พบว่าสารสกัดทุกขนาดไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ การวิเคราะห์ผลด้วย qRT-PCR, Western blot, STAT6 phosphorylation, Immunostaining, และ UPLC-QTOF/MS พบว่าสารสกัดมีผลกระตุ้น differentiation markers ชนิด keratin (KRT)1, KRT2, KRT9, และ KRT10 ในเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้ยังกระตุ้นการแสดงออกของ involucrin (IVL), loricrin (LOR), claudin1 (CLDN1), และ filaggrin (FLG) อย่างชัดเจน ส่งผลให้เกราะป้องกันผิว (skin barrier functions) ทำงานได้ดีขึ้น การทดสอบเพิ่มเติมด้วย atopic dermatitis-like model พบว่าสารสกัดทำให้การแสดงออกของ FLG เพิ่มขึ้น ด้วยการยับยั้ง interleukin (IL)-4/IL-13 ซึ่ง FLG เป็นโปรตีนสำคัญที่ช่วยในการสร้างและค้ำจุนโครงสร้างผิวหนังชั้นนอก รวมทั้งช่วยรักษาสมดุลของน้ำในชั้นผิวและเสริมเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรง จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมทานอลของอินทนิลบกมีฤทธิ์ต้านภาวะผิวหนังอักเสบและอาจพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการบำรุงผิวได้
Fitoterapia. 2024;174:105859. doi: 10.1016/j.fitote.2024.105859.