ศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดชนิดต่าง ๆ จากเมล็ดน้อยหน่าได้แก่ ปิโตรเลียมอีเทอร์ อะซีโตน เอทานอล และเมทานอล พบว่า สารสกัดเอทานอลและเมทานอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุดเมื่อทำการทดสอบด้วยวิธี DPPH assay โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระครึ่งหนึ่ง (EC50) เท่ากับ 9.00±0.26 และ 9.80±0.13 มคก./มล. ตามลำดับ (สารเปรียบเทียบ L-ascorbic acid มีค่า EC50 เท่ากับ 11.70±0.16 มคก./มล.) เช่นเดียวกับการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี hydrogen peroxide scavenging assay ซึ่งพบว่า สารสกัดเอทานอลและเมทานอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 10.80±0.32 และ 14.50±0.21 มคก./มล. ตามลำดับ (สารเปรียบเทียบ L-ascorbic acid มีค่า EC50 เท่ากับ 23.50±0.21 มคก./มล.) ในขณะที่การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี superoxide radical scavenging assay พบว่า สารสกัดเอทานอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 9.40±0.13 มคก./มล. (สารเปรียบเทียบ L-ascorbic acid มีค่า EC50 เท่ากับ 13.00±0.13 มคก./มล.) และเมื่อทดสอบด้วยวิธี nitric oxide scavenging assay พบว่า สารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 39.50±0.11 มคก./มล. (สารเปรียบเทียบ L-ascorbic acid มีค่า EC50 เท่ากับ 42.50±0.14 มคก./มล.) และเมื่อศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide (MTT) assay บนเซลล์ไต (HEK293) เซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์ (MCF7) และเซลล์มะเร็งตับ (HepG2) พบว่า สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์และอะซีโตนที่ความเข้มข้นไม่เกิน 100 มคก. จะไม่แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ HEK293 ส่วนสารสกัดเอทานอลและเมทานอลไม่แสดงความเป็นพิษที่ความเข้มข้นมากถึง 200 มคก. ในขณะที่เซลล์มะเร็งอีก 2 ชนิด พบว่าสารสกัดส่วนใหญ่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ แต่ค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าน้อยกว่าสารเปรียบเทียบ (coumarin) สารสกัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีที่สุดได้แก่ สารสกัดเอทานอลโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 32.18±2.04 และ 15.45±1.22 มคก. สำหรับเซลล์ HepG2 และ MCF7 ตามลำดับ (สารเปรียบเทียบ coumarin มีค่า IC50 เท่ากับ 23.79±2.27 และ 24.81±1.29 มคก. สำหรับเซลล์ HepG2 และ MCF7 ตามลำดับ) ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดพบสารสำคัญคือ anethole, cyclopentane, 1,1,3-trimethyl และ phosphonate oxide tributyl ซึ่งเมื่อทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารด้วยแบบจำลองในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (in silico study) พบว่า สารกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ EGFR kinase ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวนเซลล์ โดยมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวได้ ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมล็ดน้อยหน่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดเอทานอลซึ่งพบว่า มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์ MCF7 ได้ดี และสารออกฤทธิ์ที่พบอาจนำไปพัฒนาเพื่อต่อยอดในการใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งได้
Braz J Biol. 2023;82:e268250.