ฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของสารสกัดจากกลีบดอกหญ้าฝรั่น

การศึกษาทางคลินิกแบบปกปิดสองทาง มียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม และมีการสุ่ม เพื่อทดสอบฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์จากกลีบดอกหญ้าฝรั่น (Crocus sativus L.) ในผู้ป่วยจำนวน 42 คน อายุระหว่าง 25-64 ปี และมีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดอย่างน้อย 2 ข้อ จากคุณสมบัติต่อไปนี้ 1. มีระดับ high-density lipoproteins (HDL) ≤40, 2. มีระดับ low-density lipoproteins (LDL) ≥130, 3. มีระดับ triglycerides (TG) ≥200, และ 4. มีค่า total cholesterol (Cho) ≥200 โดยผู้ป่วยจะถูกสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 21 คน กลุ่มที่ 1 จะได้รับสารสกัดขนาด 30 มก./วัน ในรูปแบบยาเม็ด โดยให้รับประทานหลังอาหารมื้อหลักวันละ 1 ครั้ง และกลุ่มที่ 2 จะได้รับยาหลอก ทำการทดสอบนาน 4 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์โรคหัวใจ ทำการตรวจวัดค่า serum lipid factors, alanine transaminase (ALT), aspartate transaminase (AST), alkaline phosphatase (ALP), urea, creatinin (CR) และ fasting blood sugar (FBS) ก่อนและหลังทำการทดลอง เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้ พบว่า ยาเม็ดสารสกัดกลีบดอกหญ้าฝรั่นทำให้ระดับ TG, Cho และ LDL ของผู้ป่วยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.001) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมีค่าลดลง 113.81 ± 12.93, 56.52 ± 4.68 และ 48.28 ± 3.70 มก./ดล. ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีค่าลดลง 18.42 ± 15.79, 4.57 ± 4.40 และ7.38 ± 3.54 มก./ดล. ตามลำดับ นอกจากนี้ ยาเม็ดสารสกัดกลีบดอกหญ้าฝรั่นยังทำให้ระดับ urea และ CR ของผู้ป่วยลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับ ALT, AST, ALP และ FBS จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากกลีบดอกหญ้าฝรั่นมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือความผิดปกติในระบบหลอดเลือดและหัวใจได้

Clin Nutr ESPEN. 2023;55:314-9. doi: 10.1016/j.clnesp.2023.04.002.