ผลของสารเคอร์คูมินในขมิ้นชันและสารพิเพอร์รีนในพริกไทยเมื่อใช้ร่วมกันในผู้ป่วยที่มีไขมันพอกตับระดับกลางถึงสูง

การศึกษาแบบสุ่มและปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย ในผู้ป่วยที่ไขมันพอกตับในระยะที่ 2 และ 3 ทั้งเพศชายและหญิง อายุระหว่าง 18-65 ปี จำนวน 60 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานยาแคปซูล เคอร์คูมิน+พิเพอร์รีน 1 แคปซูล/วัน (1 แคปซูล ประกอบด้วยสารเคอร์คูมินจากขมิ้นชัน 500 มก. และสาร พิเพอร์รีนจากพริกไทย 5 มก.) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก 1 แคปซูล ซึ่งเป็น maltodextrin ขนาด 505 มก. วันละ 1 ครั้ง นาน 12 สัปดาห์ หลังการศึกษาพบว่าน้ำหนักร่างกาย ดัชนีมวลกาย เส้นรอบวงเอวลดลงในกลุ่มที่ได้รับสารเคอร์คูมินและสารพิเพอร์รีน เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มการศึกษา และในกลุ่มที่ได้รับสารเคอร์คูมินและพิเพอร์รีนระดับความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) ระดับคอเลสเตอรอลรวม ระดับไตรกลีเซอไรด์ ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ระดับน้ำตาล และค่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับ (ALT, AST) ในเลือดมีค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะที่ระดับความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure) ระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับสารเคอร์คูมินและสาร พิเพอร์รีนระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอร์ไรด์ AST และ ALT ดีขี้น 72.4, 78.5, 65.5 และ 62% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่การตรวจด้วย FibroScan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม จากการศึกษาสรุปได้ว่าการรับประทานสารเคอร์คูมินและสารพิเพอร์รีนอาจมีผลใช้เสริมการรักษา ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลรวม ระดับไตรกลีเซอไรด์ ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ระดับน้ำตาล และการทำงานของตับดีขึ้นในผู้ป่วยที่มีไขมันพอกตับระดับกลางถึงสูงได้

Phytother Res. 2023;37:2217–29.doi: 10.1002/ptr.7764