การศึกษาทางระบาดวิทยาแบบ retrospective cohort study ในผู้ป่วยโควิด19 ที่ตรวจ RT-PCR แล้วผล positive ซึ่งไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จำนวน 528 คน ทั้งเพศชายและหญิง อายุระหว่าง 15-60 ปี แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 243 คน ซึ่งในกลุ่มนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มแรก จำนวน 214 คน ได้รับสารสกัดเอทานอลของฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล ครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง (1 แคปซูลมีสาร andrographolide 20 มก. = ปริมาณ andrographolide 180 มก./วัน) นาน 5 วัน ส่วนอีกกลุ่ม จำนวน 29 คน ได้รับยาฟ้าทะลายโจรบดผงบรรจุแคปซูล ครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง (1 แคปซูลมีสาร andrographolide 12 มก.= ปริมาณ andrographolide 144 มก./วัน) นาน 5 วัน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม จำนวน 285 คน ซึ่งไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร หลังการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร มีผู้ป่วยที่เกิดอาการปอดปวม จำนวน 1 ราย ซึ่งได้รับยาในวันที่ 11 หลังจากการมีอาการ ขณะที่ในกลุ่มควบคุมพบผู้ป่วยมีอาการปอดบวม 69 ราย ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปอดบวมในกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร และกลุ่มควบคุม มีค่าเท่ากับ 0.3% และ 24.3% ตามลำดับ พบผลข้างเคียงจากการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วย จำนวน 8 ราย ได้แก่ อาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก จากการศึกษาสรุปได้ว่า การใช้ฟ้าทะลายโจรค่อนข้างปลอดภัยและสามารถลดการเสี่ยงต่อการเกิดอาการปอดบวมในผู้ป่วยโควิด19 ในระยะที่เริ่มเป็นได้
Arch Intern Med Res. 2023;6(2):35-43 doi:10.26502/aimr.0146.