ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเบาหวานของดอกไม้กินได้

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดน้ำจากดอกไม้กินได้ 10 ชนิด ได้แก่ ดอกเก๊กฮวย (Chrysanthemum indicum L.), คอกคาโมมายล์ (Chamaemelum nobile (L.) All.), ดอกอัญชัน (Clitoria ternatea L.), ดอกดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta L.), ดอกคำฝอย (Carthamus tinctorius L.), ดอกข่า (Alpinia galanga (L.) Willd.), ดอกชมจันทร์ (Ipomoea alba L.), ดอกแคขาว (Sesbania grandiflora Desv.), ดอกแคแดง (Sesbania grandiflora (L.) Pers.), และดอกโสน (Sesbania drummondii) โดยทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay พบว่า สารสกัดจากดอกไม้ทั้ง 10 ชนิดในขนาด 1 กรัม (น้ำหนักแห้ง) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับสารมาตรฐาน trolox 218.11, 228.45, 140.51, 245.92, 153.40, 391.05, 366.55, 275.01, 985.22, และ 394.18 มิลลิโมลต่อลิตร (mmol L−1 TE g−1 DW) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สารสกัดจากดอกแคแดงมีฤทธิ์ดีที่สุดและสารสกัดจากดอกอัญชันมีฤทธิ์น้อยที่สุด การศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวานโดยทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-amylase และ α-glucosidase พบว่า สารสกัดทุกชนิดสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิดได้ โดยสารสกัดจากดอกดาวเรืองอเมริกัน ดอกข่า และดอกอัญชัน สามารถยับยั้งเอนไซม์ α-amylase ได้ดี โดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 0.13, 0.19, และ 0.29 มก./มล. ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดจากดอกแคขาวมีฤทธิ์น้อยที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.63 มก./มล. และสารสกัดจากดอกแคแดงสามารถยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ได้ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.35 มก./มล. ในขณะที่สารสกัดจากดอกข่ามีฤทธิ์น้อยที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 1.20 มก./มล. จากผลการทดลองข้างต้นจะเห็นว่า สารสกัดน้ำจากดอกไม้กินได้ทั้ง 10 ชนิด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ต้านเบาหวานโดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-amylase และ α-glucosidase ดังนั้นการบริโภคดอกไม้เหล่านี้ จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวานได้

J Sci Food Agric. 2021;101:4380-9. doi: 10.1002/jsfa.11079.