ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของหญ้าฝรั่นในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

การศึกษาทางคลินิกแบบมีการสุ่ม ปกปิดสองทาง และมียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุมเพื่อทดสอบผลของการให้หญ้าฝรั่น (Crocus sativus L.) ต่อความรุนแรงของโรคและอนุมูลอิสระในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (ulcerative colitis) จำนวน 80 คน ที่มีอาการของโรคในระดับอ่อนถึงระดับปานกลาง โดยสุ่มแยกผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 40 คน กลุ่มที่ 1 ได้รับยาเม็ดหญ้าฝั่น 100 มก./วัน กลุ่มที่ 2 ได้รับ maltodextrin (ยาหลอก) 100 มก./วัน ทำการทดสอบนาน 8 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ผู้ป่วยจำนวน 75 คน ได้รับการประเมินผล (ผู้ป่วย 5 คนในกลุ่มที่ได้รับหญ้าฝรั่นถอนตัว) พบว่า กลุ่มที่ได้รับหญ้าฝรั่นมีคะแนนเฉลี่ยความรุนแรงของโรคจากการประเมินด้วยแบบทดสอบ simple clinical colitis activity index questionnaire (SCCAIQ) ลดลงอย่างชัดเจน คือจาก 3.83 ± 1.78 เหลือ 3 ± 1.60, p = .004 ในขณะที่ตัวบ่งชี้ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือดเพิ่มขึ้น โดยค่าผลรวมความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ (total antioxidant capacity) เพิ่มขึ้นจาก 2.68 ± 0.90 เป็น 2.79 ± 0.87, p = .016, ระดับ superoxide dismutase เพิ่มขึ้นจาก 60.69 ± 9.59 เป็น 66.30 ± 10.79, p = .009 และระดับ glutathione peroxidase เพิ่มขึ้นจาก 22.05 ± 14.27 เป็น 29.67 ± 17.97, p = .011 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่พบความแตกต่างของระดับ malondialdehyde ของทั้ง 2 กลุ่ม จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า หญ้าฝรั่นอาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ รวมทั้งทำให้ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

Phytother Res.2021;35(2):946-53.