การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งภาวะอ้วนลงพุง (metabolic disease) ของสาร ginsenoside Rg2 ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบได้ในรากโสม (Panax ginseng) โดยทำการทดลองในเซลล์ตับของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการสะสมไขมันด้วย oleic acid ขนาด 300 ไมโครโมลาร์ และ palmitic acid ขนาด 100 ไมโครโมลาร์ โดยเพาะเลี้ยงเซลล์ร่วมกับสาร ginsenoside Rg2 ขนาด 25 ไมโครโมลาร์ และทำการทดลองในหนูเม้าส์ชนิด C57BL/6J ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงด้วยการได้รับอาหารที่มีไขมันสูงร่วมกับการฉีดสาร ginsenoside Rg2 เข้าทางช่องท้องในขนาด 2.5, 5.0, และ 10 มก./กก./วัน เป็นเวลานาน 28 วัน ผลการทดลองในเซลล์ตับหนูพบว่า สาร ginsenoside Rg2 มีผลยับยั้งการเพิ่มขึ้นของไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล การสะสมของไขมัน (lipid deposition) การแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างไขมัน (lipogenic) เพิ่มการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญไขมัน (fatty acids oxidation) ได้แก่ Srebp-1c, Fas และ Acc นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการสร้าง reactive oxygen species ซึ่งเกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยกรดไขมันด้วย ผลการทดลองในหนูเม้าส์พบว่า สาร ginsenoside Rg2 ทำให้น้ำหนักตัวหนูลดลงโดยไม่มีผลต่อการกินอาหาร ระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลลดลง ความทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) ดีขึ้น และความไวของอินซูลิน (insulin sensitivity) เพิ่มขึ้น โดยประสิทธิผลจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และที่ขนาด 10 มก./กก. ตับหนูมีน้ำหนักลดลงอย่างชัดเจนและมีการสะสมไขมันที่ตับลดลง และจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า การออกฤทธิ์ของสาร ginsenoside Rg2 จะขึ้นอยู่กับการทำงานของยีน Sirtuin1 (SIRT1) ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ โดยยืนยันผลดังกล่าวด้วยการทดสอบในเซลล์ตับหนูที่ไม่มียีน SIRT1 พบว่าสาร ginsenoside Rg2 ไม่สามารถออกฤทธิ์ข้างต้นได้ จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สาร ginsenoside Rg2 สามารถบรรเทาภาวะอ้วนลงพุงจากการได้รับอาหารที่มีไขมันสูง ด้วยกลไกการยับยั้งการสร้างไขมันและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระผ่านการทำงานของยีน SIRT1
J Agric Food Chem. 2020;68:4215-26.