ผลของหัวบัวหิมะต่อลำไส้ใหญ่

การศึกษาผลของการกินหัวบัวหิมะ (Smallanthus sonchifolius (Poepp.) H.Rob) ต่อลำไส้ใหญ่ในหนูเม้าส์ โดยแบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารมาตรฐาน AIN-93M และกลุ่มที่ 2 ได้รับ AIN-93M ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากหัวบัวหิมะ (yacon-based product; PBY) ซึ่งมี fructooligosaccharides (FOS) และอินูลินเป็นส่วนประกอบ 6% ทำการทดสอบนาน 8 สัปดาห์ พบว่า PBY ทำให้การกินอาหารของหนูลดลง อุจจาระมีความชื้นและความหนืดดีขึ้น ความเข้มข้นของ short-chain fatty acid ในอุจจาระมากขึ้น จำนวนของ regulatory T cells เพิ่มขึ้น การแสดงออกของ retinoic acid receptor (RAR)-related orphan receptor gamma (RORγt) transcription factor ในลำไส้ใหญ่ลดลง ซึ่งส่งผลให้การอักเสบลดลง จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากหัวบัวหิมะอาจช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น ทำให้เยื่อเมือกในลำไส้ใหญ่มีความสมบูรณ์มากขึ้น และช่วยลดการอักเสบด้วยการกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันภายในลำไส้ได้

J Funct Foods. 2019;55:333-42.