ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารแอนโทไซยานินจากมันม่วง

สารแอนโทไซยานินที่มีอยู่อย่างมากมายในหัวมันม่วง (purple sweet potato) สามารถจับกับโปรตีนในผลิตภัณฑ์อาหารด้วยพันธะ non-covalent หรือพันธะ covalent เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนได้ ซึ่งการจับกันนี้ สามารถเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต การขนส่ง และการเก็บรักษา การทดสอบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารแอนโทไซยานินจากมันม่วงที่จับกับโปรตีน (protein-bound anthocyanin compounds of purple sweet potato (p-BAC-PSP, มีสารแอนโทไซยานิน 16.46 ± 3.36 มก.C3G/ก. และมีโปรตีน 62.50 ± 0.09%) และสารแอนโทไซยานินอิสระ (free anthocyanin compounds of purple sweet potato; FAC-PSP, มีสารแอนโทไซยานิน 40.74 ± 2.88 มก.C3G/ก.) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยอาหารไขมันสูง โดยหนูจะได้รับ p-BAC-PSP ขนาด 500 มก./กก. หรือ FAC-PSP ขนาด 200 มก./กก. (เพื่อให้มีปริมาณของสารแอนโทไซยานินใกล้เคียงกัน) พบว่า p-BAC-PSP และ FAC-PSP สามารถบรรเทาความผิดปกติที่เกิดจากเบาหวานได้ โดยทำให้ความสามารถในการทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) และการเผาผลาญไขมัน (lipid metabolism) ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) และการถูกทำลายของตับ ลดลงด้วย การศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า p-BAC-PSP และ FAC-PSP เหนี่ยวนำให้การแสดงออกของ AMP-activated protein kinase ในตับเพิ่มขึ้น การทำงานของ glucose transporter type 2, ระดับโปรตีนของ glucokinase, และการทำงานของ insulin receptor α ดีขึ้นอย่างชัดเจน (p < 0.05) ยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายน้ำตาลกลูโคส (glycolysis) ได้แก่ phosphofructokinase และ pyruvate kinase เพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคส (gluconeogenic) ได้แก่ glucose-6-phosphatase และ phosphoenolpyruvate carboxykinase ลดจำนวนลง โดย p-BAC-PSP และ FAC-PSP มีประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกัน ซึ่งคาดว่าเกิดจากการออกฤทธิ์ของสารแอนโทไซยานิน แต่ p-BAC-PSP มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบจึงทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สารแอนโทไซยานินจากมันม่วงอาจนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อการลดน้ำตาลในเลือดของคนทั่วไป ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน และผู้ป่วยเบาหวานได้

J Agric Food Chem. 2020;68(6):1596-608.