ฤทธิ์ต้านภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ของสารสกัดจากรำข้าว

ภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (alcoholic liver injury) มักเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งการอักเสบดังกล่าวสามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยสารพิษที่หลั่งมาจากจุลินทรีย์ในลำไส้เมื่อเกิดภาวะไม่สมดุล (intestinal dysbiosis) การศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัดฟีนอลิกจากรำข้าว (rice bran phenolic extract; RBPE) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำในเกิดภาวะตับอักเสบด้วยการป้อนเอทานอล โดยแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารเหลวปกติ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารเหลวที่มีส่วนผสมของเอทานอล (4%w/v) เพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 3 และ 4 ได้รับอาหารเหลวที่มีส่วนผสมของเอทานอลและ RBPE ขนาด 0.25 (low dose) หรือ 0.05 (high dose) ก./ลิตร ตามลำดับ (เทียบเท่ากับการได้รับ RBPE 100 หรือ 200 มก./กก.) ทำการทดสอบเป็นเวลานาน 8 สัปดาห์ พบว่า RBPE สามารถยับยั้งความเป็นพิษต่อตับของเอทานอลได้ โดยทำให้ระดับไขมันและค่าของตัวชี้วัดความผิดปกติภายในตับลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าเอทานอลทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (intestinal microbiota dysbiosis) ซึ่ง RBPE ทำให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวลดลง การศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า RBPE ยับยั้งการลดลงของ ZO-1, Claudin-1, Claudin-4, และ Reg3g* (เอทานอลทำให้การแสดงออกของโปรตีนเหล่านี้ลดลง) ซึ่งช่วยให้ความผิดปกติในเนื้อเยื่อของลำไส้ลดลง นอกจากนี้ RBPE ยังสามารถยับยั้งภาวะไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ ซึ่งส่งผลให้การสร้างสารพิษของจุลินทรีย์ลดลง โดยสารพิษดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบ การศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า RBPE ยับยั้ง hepatic endotoxin-TLR4-NF-κB pathway จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า RBPE สามารถบรรเทาภาวะตับอักเสบจากเอทานอลได้ โดยทำให้ภาวะไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ลดลง ช่วยให้โปรตีนในเนื้อเยื่อของลำไส้ทำงานดีขึ้น และทำให้การอักเสบของตับลดลง โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ ดังนั้นการรับประทานสารสกัดฟีนอลิกจากรำข้าวหรือการรับประทานข้าวกล้อง (brown rice) อาจช่วยปกป้องตับจากการถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์ได้ *หมายเหตุ: ZO-1, Claudin-1, Claudin-4, และ Reg3g เป็นโปรตีนที่อยู่บริเวณ tight junction ในเนื้อเยื่อของลำไส้ มีหน้าที่ควบคุมการผ่านเข้า-ออกของสารต่างๆ

J Agric Food Chem. 2020;68(5):1237-47.