ผลของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นต่อระดับน้ำตาลและไขมันของสัตว์ทดลองปกติและสัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวาน

การศึกษาผลของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น (virgin coconut oil) ต่อระดับน้ำตาลและไขมันในหนูแรทปกติและหนูแรทที่เป็นเบาหวาน การทดสอบแบ่งหนูแรทออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 ป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าว 20% กลุ่มที่ 3 เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ด้วย alloxan และกลุ่มที่ 4 ป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าว 20% ร่วมกับ alloxan เป็นเวลา 16 สัปดาห์ พบว่าการป้อนน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นให้แก่หนูแรททั้งสองกลุ่มให้ผลแตกต่างกัน กล่าวคือในกลุ่มหนูแรทปกติ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นให้ผลเพิ่มความไวต่ออินซูลินและควบคุมระดับน้ำตาล รวมถึงลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลง 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และพบการสะสมไขมันในตับของหนูแรททั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ตามการสะสมไขมันในตับของหนูแรทเบาหวานเกิดขึ้นต่ำกว่ากลุ่มหนูแรทปกติ และไม่พบผลของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางจุลกายวิภาคของหัวใจ ความผิดปกติหลอดเลือดแดง หรือทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (aorta) หนาตัว หรือทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวในสัตว์ทดลองทั้งสองกลุ่ม ในขณะที่การป้อนน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นให้แก่หนูแรทพร้อมการเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ด้วย alloxan ส่งผลให้หนูแรทเกิดภาวะเบาหวานเร็วขึ้น น้ำมันมะพร้าวเพิ่มความดื้อต่ออินซูลินและระดับไขมันในเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเปลี่ยนเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (แบบไม่พึ่งอินซูลิน) ของสัตว์ทดลอง การศึกษานี้สรุปว่าแม้การบริโภคน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจะไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่มีผลต่อความดื้อต่ออินซูลินและไขมันในเลือดจึงควรห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน

J Funct Foods. 2020;64:103601